ผู้เขียนถูกถามอยู่บ่อย ๆ ว่าทำไมยาบางชนิดให้กินก่อนอาหาร บางชนิดให้กินหลังอาหาร และถ้าลืมกินยาก่อนอาหารจะกินหลังอาหารได้ไหม ? เพราะคนส่วนใหญ่มักลืมกินยาก่อนอาหาร
เหตุผลที่ยาบางชนิดต้องกินก่อนอาหารนั้น เนื่องจากยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีตอนท้องว่าง นั่นคือ ก่อนอาหารประมาณครึ่ง-หนึ่งชั่วโมง หรือหลังกินอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากถ้ามีอาหารในกระเพาะหรือลำไส้จะทำให้การดูดซึมยานั้นลดลง
ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดควรกินก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง เช่น แอมพิซิลลิน (ampicillin), คลอกซาซิลลิน (cloxacillin), ไดคลอกซาซิลลิน (dicloxacillin) อีริโทรไมซิน (erythromycin), นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin) ดังนั้นถ้าลืมกินยาก่อนอาหารก็สามารถกินยาหลังจากกินอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง แต่หากนึกขึ้นได้ตอนใกล้จะกินยามื้อต่อไป ควรข้ามยามื้อนั้นไปและรอกินยามื้อต่อไปตามเวลาที่ควรกินตามปกติ
อย่างไรก็ตามหากกินยาตอนท้องว่างแล้วมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนก็สามารถกินยาหลังอาหารได้ แม้การดูดซึมยาเข้าสู่กระแสเลือดจะลดลง แต่ก็ยังดีกว่าที่ไม่สามารถกินยาได้เลย
ยาที่ให้กินหลังอาหารทันทีหรือกินยาพร้อมอาหาร อาจมีหลายเหตุผล เช่น ยาทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินอาหาร หากกินยาตอนท้องว่างจะทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะหรือลำไส้ และแสบท้อง หรือยาบางชนิดถูกดูดซึมได้ดีในอาหารที่มีไขมัน
ตัวอย่างยาที่ให้กินหลังอาหารทันที มักเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ (anti-inflammatory drug) เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac), อินโดเมทาซิน (indomethacin), ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen), แอสไพริน (aspirin), เพรดนิโซโลน (prednisolone), เดกซาเมทาโซน (dexamethasone) หรืออาจเป็นยากลุ่มอื่น เช่น เมตฟอร์มิน (metformin) ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะ
ยาบางชนิดกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เพราะอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมยา ยาไม่มีฤทธิ์ระคายเคืองทางเดินอาหาร และไม่มีปัญหาเรื่องความคงตัว เช่น พาราเซทามอล (paracetamol) ซึ่งกินยาได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ยาปฏิชีวนะอะมอกซิซิลลิน (amoxicillin) ซึ่งกินยาทุก 8 ชั่วโมงแต่เพื่อไม่ให้ลืมกินยา บางครั้งแพทย์และเภสัชกรจึงให้ผู้ป่วยกินอะมอกซิซิลลินหลังอาหารเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยลืมกินยา แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการกินยาทุก 8 ชั่วโมงเพราะทำให้ระดับยาในเลือดคงที่ทำให้ทำลายเชื้อได้ตลอดเวลา
บทความโดย : รศ.ดร.ภญ.โพยม วงศ์ภูวรักษ์
ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บรรณานุกรม
- สุชาดา ชุติมาวรพันธุ์, โพยม วงศ์ภูวรักษ์, อภิฤดีเหมะจุฑา . คู่มือทักษะเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2550), สภาเภสัชกรรม.
- Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook: A Comprehensive Resource for All Clinicians and Healthcare Professionals. Ohio: Lexi Comp In;2008.
- Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary 56, London: Pharmaceutical Press;2008.
มีหลายครั้ง ที่ คนไข้เบาหวาน ลืมกินยาก่อนอาหาร
เช่นยา glibenclamide หากเผลอลืม กินยาก่อนอาหาร การกินยาหลังอาหาร ทันที เมื่อนึกได้ อาจทำไ้ด้ โดยเฉพาะยาเบาหวาน เพราะหาก ข้ามเมื้ยาไปเลย าจทำให้การควบคุมน้ำตาลในเลือดเลวลงได้
หมายเหตุ ในต่างประเทศยา glibeclamide นั้น รับประทานยาพร้อมอาหาร