เมื่อมีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย หรือมีโรคประจำตัว สิ่งที่จะช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการต่างๆที่เกิดขึ้นก็คือยา ทั้งนี้จะใช้ยาให้ปลอดภัยเราต้องมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์หรือตัวยานั้นๆ แต่เราจะมั่นใจได้มากเพียงใดว่ายาที่เรากำลังจะใช้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ความรู้เรื่องยาที่ไม่ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญและควรให้ความสนใจเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ยาที่ไม่ปลอดภัยในการใช้และไม่เกิดผลในการรักษามีหลายประเภท ได้แก่ ยาปลอม ยาผิดมาตรฐาน และยาเสื่อมคุณภาพ
ยาจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเสื่อมคุณภาพได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป ถึงแม้ว่าจะมีการเก็บรักษาในสภาพวะแวดล้อมที่เหมาะสมก็ตาม ทั้งนี้ยาที่เสื่อมสภาพคือ ยาที่หมดอายุตามที่แสดงไว้ในฉลาก หรือยาที่เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ทั้งนี้ในทางกฎหมาย ยาทุกชนิดจะต้องมีการระบุข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอายุของยาไว้บนฉลากให้ชัดเจน ตรวจสอบง่าย ซึ่งข้อมูลที่ว่านี้คือการระบุวันที่ผลิต หรือวันหมดอายุนั่นเอง
การตรวจสอบว่ายาหมดอายุหรือไม่
- เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบดูวันหมดอายุของยาที่ระบุไว้บนฉลาก ข้อความที่จะบ่งบอกวันหมดอายุจะใช้คำว่า วันสิ้นอายุ หรือ วันหมดอายุ หรือ EXP. หรือ EXP DATE หรือ EXPIRY หรือ USE BEFORE และมักระบุตัวเลขอีก 3 กลุ่ม ซึ่งหมายถึง วันที่ เดือน และปี เช่น
ยานี้จะหมดอายุในวันที่ 22 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2009 หากเก็บรักษายาในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม
หรือทั้งนี้อาจมีการระบุตัวเลขเพียง 2 กลุ่มซึ่งหมายถึง เดือน และปี ให้ถือว่าวันสิ้นเดือนของเดือนนั้นๆเป็นวันหมดอายุ เช่น
ยานี้จะหมดอายุในวันที่ 31 เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 หากเก็บรักษายาในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม - หากยานั้นไม่ระบุถึงวันหมดอายุ ให้ดูจากวันเดือนปีที่ผลิตซึ่งมักจะใช้คำว่า วันที่ผลิต หรือคำย่อว่า MFG หรือ*MFG.DATE* หรือ MFD ซึ่งมาจาก Manufacturing date แปลว่า วันที่ผลิต
ยานี้ผลิตในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005
ทั้งนี้จากข้อมูลวันที่ผลิตสามารถระบุสามารถทราบถึงวันหมดอายุโดยคร่าวๆได้ โดยยาที่ยังไม่ได้เปิดใช้จะมีอายุนับจากวันที่ผลิต ดังนี้
ยาเม็ด จะมีอายุ 5 ปี ยาน้ำ จะมีอายุ 3 ปี
ถ้ายามีอายุเกินเวลาดังกล่าวจัดเป็นยาที่ไม่น่าไว้วางใจ และถือว่าเป็นยาหมดอายุ แม้ว่าจะยังไม่พบว่ายานั้นเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากปกติเมื่อมองดูด้วยตาเปล่าก็ตาม ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยง แต่หากเมื่อใดการเก็บรักษายาอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ปิดฝาไม่สนิท เก็บในที่ร้อนและถูกแสงแดด อยู่ในที่ชื้น ยานั้นก็อาจมีการเสื่อมสภาพก่อนอายุจริงได้ จึงไม่ควรนำยานั้นมาใช้เช่นกัน
วิธีการสังเกตยาเสื่อมสภาพ
- ยาเม็ด ที่เสื่อมสภาพจะแตกร่วน กระเทา สีซีดหรือเข้มขึ้น ถ้าเป็นเม็ดเคลือบจะเยิ้มเหลว ตัวอย่างเช่น ยาแอสไพริน เมื่อถูกความชื้นจะมีเกล็ดใสๆเกาะตามตัวยา มีกลิ่นฉุนเปรี้ยว
- ยาแคปซูล ที่หมดอายุ จะบวมโป่ง พอง หรือจับเป็นก้อนแข็ง ยาในแคปซูลเปลี่ยนสี เช่น ยาเตตราซัยคลินที่เสียแล้ว ผงยาจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อไตมาก
- ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาลดกรด แก้ท้องเสีย ถ้าตะกอนจับตัวแข็ง เขย่าแล้วไม่กระจายตัว แสดงว่ายาเสื่อมสภาพ
- ยาน้ำเชื่อม ถ้ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ ขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด เปรี้ยว แสดงว่ายาเสื่อมสภาพ
- ยาน้ำอีมัลชั่น เช่น น้ำมันตับปลา เมื่อเขย่าแล้วต้องรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน หากยาไม่สามารถรวมเป็นเนื้อเดียวกันแสดงว่ายาเสื่อมสภาพ ห้ามใช้เด็ดขาด
การเก็บรักษายา
- ยาที่เก็บต้องมีฉลากถูกต้อง ไม่เลอะเลือน ยาทุกตัวควรมีฉลากบ่งบอกชื่อยา ขนาด ความแรง สรรพคุณ วิธีใช้ที่ชัดเจน
- ที่เก็บยาไม่ควรอับชื้น หรือมีอุณหภูมิสูง หรือที่แสงแดดส่องถึง
- ควรเก็บยาให้เป็นระเบียบ ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ควรมีการแยกระหว่างยาที่ใช้ภายในและภายนอก
- ภาชนะที่บรรจุยาควรปิดสนิท สามารถป้องกันความชื้นได้
- ยาที่ระบุให้เก็บในตู้เย็น ให้เก็บในช่องธรรมดา ไม่ควรเก็บในช่องแช่แข็งทั้งนี้เพื่อความคงตัวของยา
- ยาหยอดตาหลังจากเปิดใช้จะเก็บไว้ใช้ได้ไม่เกิน 1 เดือน
- หมั่นตรวจสอบวันหมดอายุ และสภาพของยาสม่ำเสมอ
เอกสารอ้างอิง
- พรเพ็ญ เปรมโยธิน และคณะ. สารพันคำถามเรื่องยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 1. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2548
- เอกสารประกอบการฝึกงานวิชาชีพเภสัชกรรม หลักสูตรบริบาลเภสัชกรรม รุ่น1. ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา. 2550.