อ่าน: 1404
Small_font Large_font

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องกินยาให้หมดทุกครั้งตามที่แพทย์สั่งหรือที่เภสัชกรจ่าย ?

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำว่า “ยานี้ต้องกินทุกวันอย่างต่อเนื่องจนยาหมด” หรือ “กินยานี้ให้หมด อย่าหยุดกินยาเอง”  และมักมีคำถามว่า ถ้ากินยาไม่หมดจะเป็นอะไรไหม ?


ยาที่รักษาหรือบำบัดโรคต่าง ๆ นั้น บางชนิดก็ใช้รักษาตามอาการ เมื่ออาการนั้นหายไปก็ไม่ต้องกินยาอีก เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้  ยาลดน้ำมูก  บางท่านไม่ทราบก็ไปกินยาเหล่านี้จนหมดทั้งที่ไม่จำเป็น


แต่มียาบางชนิดที่ต้องกินอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีอาการก็ต้องกินยานั้นจนหมด หรือบางครั้งต้องกินยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อควบคุมไม่ให้อาการของโรคกำเริบเพราะไม่สามารถรักษาโรคนั้นให้หายได้ แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายกิน ๆ หยุด ๆ หรือเมื่อมีอาการก็กิน พอไม่มีอาการก็หยุด ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้




ตัวอย่างยาที่ต้องกินให้หมดทุกครั้งตามที่แพทย์สั่งหรือที่เภสัชกรจ่าย คือ


ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย  ยากลุ่มนี้ต้องกินอย่างต่อเนื่องให้หมดทุกครั้งตามจำนวนที่ได้รับ เพราะถ้ากินยาไม่ต่อเนื่องจนครบกำหนด ระดับยาในเลือดและปริมาณยาจะไม่มากพอที่จะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หมด อาจมีเชื้อบางส่วนเหลือรอดอยู่ และสามารถเจริญเพิ่มขึ้นมาใหม่ ทำให้โรคไม่หาย และเชื้อยังอาจกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ทำให้ใช้ยาปฏิชีวนะตัวเดิมนั้นไม่ได้ผลอีกต่อไป 


ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาเชื้อดื้อยาค่อนข้างรุนแรง ตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ในการรักษาโรคหนองในแท้ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถใช้ยากลุ่มควิโนโลน (quinolone) เช่น นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin), ซิโปรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin) และ โอฟลอกซาซิน (ofloxacin) ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จากการผลวิจัยที่จังหวัดพิษณุโลกในปี พ.ศ. 2547 พบว่ามีเชื้อดื้อยาซิโปรฟลอกซาซินถึงร้อยละ 48 เท่านั้น  การใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อและการใช้ยาไม่ครบกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เชื้อดื้อยา


ยาบำบัดโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน สำหรับโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หรือถ้ามีอาการก็เพียงทำให้รู้สึกมึน ๆ หรือปวดศีรษะเล็กน้อย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองสบายดี และไม่ค่อยกินยา จนทำให้ควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ บางรายความดันโลหิตขึ้นสูงมากจนทำให้เส้นเลือดในสมองแตก กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือบางรายก็เสียชีวิต  ส่วนผู้เป็นโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาคือ ชาตามปลายมือปลายเท้า ตามองไม่เห็น และไตวาย ปัจจัยที่ทำในการควบคุมโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานได้ผลมีหลายประการคือ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การลดความเครียด และการใช้ยา แม้ยาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการบำบัดโรคเหล่านี้แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอและต้องกินยาให้หมดทุกครั้งที่ได้รับยา 


ดังนั้นเมื่อได้รับยาในแต่ละครั้งควรทราบว่าาที่ได้รับนั้นใช้รักษาตามอาการเป็นครั้งคราวและสามารถหยุดใช้ยาได้เมื่อไม่มีอาการ หรือเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องจนยาหมด หรือต้องใช้ยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อควบคุมอาการของโรค  หากไม่แน่ใจให้สอบถามเภสัชกรผู้จ่ายยา


บทความโดย :  รศ.ดร.ภญ.โพยม วงศ์ภูวรักษ์
                        ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์








บรรณานุกรม



  1. สุวรรณี   กีรติวาสี     คุตตชาติ  มีลือการ     วรรณา  ภู่เสม. กลุ่มโรคเอดส์วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคเรี้อนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก. การสำรวจผู้ป่วยหนองในที่มีเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะในจังหวัดพิษณุโลก. Available at: tp://dpc9.ddc.moph.go.th/aidstb/research/GC.doc.  Access: July 5, 2009.

  2. David G,  Roger F,  Peter D, Mark W. Chapter 8: The problem of resistance. In: Greenwood D, Finch R, Davey P, Wilcox M., eds. Antimicrobial Chemotherapy. 5th ed. Oxford University Press;2007.




โพยม 13 ก.ค. 2552 13 ก.ค. 2552
ความคิดเห็น (1)
« ก่อนหน้า หน้า 1 จาก 1 ถัดไป »

บางครั้งยาที่ตามหาทำไมไม่มี

เบญญทิพย์ (114.128.86.236) 24 กุมภาพันธ์ 2553 - 20:32 (#775)
« ก่อนหน้า หน้า 1 จาก 1 ถัดไป »
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย