เมื่อมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ ขึ้นมาเมื่อใด ยาที่มีการกล่าวถึงกันอยู่เสมอไม่ว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 คือยาต้านไวรัสอินฟลูเอ็นซ่า
ยาต้านไวรัสอินฟลูเอ็นซ่าซึ่งมีชื่อสามัญว่า oselmitavir หรือที่มีชื่อการค้าว่า Tamiflu® ของบริษัท Roche และ GPO-A-Flu® ขององค์การเภสัชกรรม และเริ่มมีการกล่าวถึงยาที่ใช้รองรับกรณีมีการดื้อยา oseltamivir คือยาใหม่ zanamivir ที่ชื่อการค้าว่า Relenza® ของบริษัท GlaxoSmithKline
อินฟลูเอนซ่าเป็นชื่อเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ เชื้อนี้มี 3 ชนิดคือ เอ, บี และ ซี ชนิดที่ทำให้เกิดโรคในคนคือ ชนิดเอ และชนิดบี และสำหรับชนิดเอแบ่งได้เป็นอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ไข้หวัดใหญ่ธรรมดาที่ระบาดตามฤดูกาล (H3N2) ไข้หวัดนกซึ่งเป็นสายพันธุ์ H5N1 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 H1N1
ยาต้านไวรัสอินฟลูเอ็นซ่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมี 3 ชนิด
- ยาตัวแรกคือ amantadine ซึ่งเคยใช้รักษาอินฟลูเอ็นซ่าเอ แต่ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้แล้วเนื่องจากเชื้อดื้อยามาก
- ยาตัวที่สองคือ oseltamivir เป็นยากินมี 2 รูปแบบคือแคปซูล และยาผงสำหรับผสมน้ำสำหรับเด็ก
- และตัวที่สามคือ zanamivir เป็นยาผงสำหรับสูดพ่น ทั้ง oseltamivir และ zanamivir ใช้รักษาการติดเชื้ออินฟลูเอ็นซ่าทั้งชนิดเอและบี
Oselmitavir ออกฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้ไวรัสแพร่จากเซลล์ที่ติดเชื้อแล้วไปสู่เซลล์ที่ยังไม่ติดเชื้อ ยาจะช่วยลดความรุนแรงและลดระยะเวลาการเจ็บป่วย และมีข้อบ่งใช้สำหรับผู้มีอายุ 1 ปีขึ้นไป แต่สิ่งสำคัญคือยานี้จะใช้ได้ผลดีเมื่อใช้ยารักษาภายใน 48 ชั่วโมงที่เริ่มมีอาการ และใช้ยาติดต่อกัน 5 วัน
ถ้าไวรัสมีการแบ่งตัวและเข้าสู่เซลล์ของคนจำนวนมากแล้ว ประสิทธิผลของยาจะลดลงมาก การใช้ยาเกินความจำเป็นหรือใช้ยาในขนาดต่ำกว่าขนาดที่ควรใช้ในการรักษาจะทำให้เชื้อดื้อยาได้มากขึ้น ยานี้จึงแนะนำให้ใช้รักษาเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ เช่น ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น หอบหืด ผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ กำลังใช้ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาต้านมะเร็งบางชนิด ยาต้านอักเสบสเตอรอยด์ (เช่น เพรดนิโซโลน, เดกซาเมทาโซน, เบต้าเมทาโซน) หรือ ผู้ที่อาการรุนแรงขึ้น เช่น มีอาการของการติดเชื้อในปอด
การใช้ยา oselmotavir ป้องกันไข้หวัดใหญ่ใช้เฉพาะบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ป่วยติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว หรือบุคคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้มีการป้องกันที่เหมาะสมและสัมผัสผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วหรือรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือสงสัยว่าติดเชื้อ
อาการข้างเคียงของ oselmitavir คือคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องร่วง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ ตาขาวอักเสบ เลือดกำเดาไหล และมีผื่น อาจทำให้ตับอักเสบ แต่พบน้อยมาก แพ้ยาแบบสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) และแพ้แบบรุนแรงชนิดผิวหนังลอก (toxic epidermal necrolysis)
ยังไม่มีการศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิผลของ oseltamivir ในสตรีมีครรภ์ จึงต้องระมัดระวังในการใช้สตรีมีครรภ์ ยานี้ถูกขับออกได้ทางน้ำนม จึงควรหลีกเลี่ยงในสตรีให้นมบุตร หากจะต้องใช้ในสตรีมีครรภ์และผู้ให้นมบุตร ต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดกับทารกในครรภ์และทารกที่ดื่มนมแม่
หลักการรักษาโรคหวัดเหล่านี้คือการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ก็กินยาลดไข้ มีน้ำมูกก็กินยาลดน้ำมูก เนื่องจากโรคนี้สามารถหายได้เองหากพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ และทำให้ร่างกายอบอุ่น
การใช้ยาต้านไวรัสอย่างพร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็น นอกจากจะมีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดอันตรายแล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการดื้อยาของเชื้อตามมา เพราะทำให้เชื้อไวรัสทั้งที่ก่อให้เกิดโรคและเชื้อไวรัสตามธรรมชาติมีโอกาสสัมผัสยามากขึ้น และเชื้อจะปรับตัวให้ทนต่อยาและดื้อยาได้ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดไปสู่เชื้อตัวอื่น ทำให้ต่อไปใช้ไม่ได้ผล และเป็นปัญหาต่อส่วนรวมอย่างมาก
ยานี้ต้องใช้ตามแพทย์สั่ง อย่าซื้อยา oseltamivir มากินเองหรือซื้อมาเก็บไว้เผื่อจะเป็น เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้ที่ต้องการใช้ยาจริง ๆ เนื่องจากยามีจำนวนจำกัด และหากใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น กินยาไม่ครบขนาด ก็ยิ่งส่งเสริมให้เชื้อดื้อยามากขึ้น การสั่งซื้อยาทาง internet หรือลักลอบซื้อตามร้านยาทั่วไป อาจทำให้ได้ยาปลอมซึ่งใช้ไม่ได้ผลและเกิดอันตรายรุนแรงตามมาได้
บทความโดย : รศ.ดร.ภญ.โพยม วงศ์ภูวรักษ์
ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บรรณานุกรม
- สำนักงานคณะกรรมการยา Available at: http://www2.fda.moph.go/consumer/drug/decenter.asp. Access: July 10, 2009.
- องค์การเภสัชกรรม. Available at: http://www.gpo.or.th/aboutus/profile.htm. Access: July 10, 2009.
- Hermsen ED, Rupp ME, Chapter 13: Influenza In: Dipiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM, eds. Pharmacotherapy: A Pathophysiology Approach. 7th ed. New York:McGrawHill Medical;2008.
- MIMS online (beta) Thailand. Available at http://www.mims.com/ Accesss: July 10, 2009.
- Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary 56, London: Pharmaceutical Press;2008.
- World Health Organization. Use of antiviral drug against influenza A (H1H1) . Available at http://www.who.int/csr/disease/swineflu/frequently_asked_questions/swineflu_faq_antivirals/en/index.html. Accesss: July 10, 2009.