อ่าน: 1628

ยาตัวเดียวกันแต่มีหลายชื่อ อาจกินยาหลายชนิดแต่เป็นยาตัวเดียวกันโดยไม่รู้ตัว ?

เคยมีผู้ป่วยเอายาหลายชนิดมาให้ผู้เขียนดู เพราะไม่ทราบว่ายาตัวไหนเป็นยาอะไร พบว่าบางครั้งผู้ป่วยได้รับยามาจากหลายแหล่ง ทั้งจากโรงพยาบาล คลินิก และร้านยา และเกิดปัญหากินยา 2 ชนิดที่เป็นยาตัวเดียวกันโดยไม่รู้ตัว  เนื่องจากยาตัวเดียวมีชื่อได้หลายชื่อ คือชื่อสามัญทางทางยา และชื่อการค้า


ชื่อสามัญทางยา (generic name) เป็นชื่อที่ใช้เรียกชื่อที่แท้จริงของยา ถ้าเทียบกับชื่อคนก็ถือว่าเป็นชื่อจริง ชื่อสามัญของยาแต่ละชนิดส่วนใหญ่มักเหมือนกันในทุกประเทศ   แต่ก็มียาบางชนิดที่อาจมีชื่อสามัญทางยาแตกต่างกันในแต่ละประเทศได้ เช่น ยาพาราเซทามอล ในประเทศไทยและประเทศอังกฤษใช้ว่า “paracetamol” แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เป็น “acetaminophen”   หรือยาขยายหลอดลมซัลบิวทามอล (salbutamol) ในประเทศไทยและประเทศอังกฤษใช้ชื่อ “salbutamol” แต่สหรัฐอเมริกาใช้ชื่อสามัญเป็น “albuterol”   


ชื่อการค้า (trade name) เป็นชื่อที่บริษัทผู้ผลิตยาต่าง ๆ ตั้งชื่อขึ้นให้เพื่อให้รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของตนเอง เปรียบเทียบได้กับชื่อยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  ยาชนิดเดียวกันอาจมีชื่อการค้าหลายชื่อ ชื่อการค้าในประเทศไทยก็อาจเหมือนหรือแตกต่างจากชื่อการค้าในประเทศอื่น ๆ  ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีชื่อการค้าของยาที่ผสมพาราเซทามอลทั้งในรูปยาเดี่ยวและยาผสมกับยาอื่นไม่ต่ำกว่า 300 ชื่อ  เช่น ซาร่า (Sara®), ไทลินอล (Tylenol®), นอร์จิสิค (Norgesic®) ฯลฯ


ผู้เขียนเคยพบว่า ผู้ป่วยได้รับยา Norgesic® ซึ่งมีตัวยาคลายกล้ามเนื้อออร์เฟนาดรีนซิเทรต (orphenadrine cirtrate) 35 มิลลิกรัมและ พาราเซทามอล 450 มิลลิกรัม แล้วยังได้ยาซาร่าที่มีตัวยา 500 มิลลิกรัมอีก คงเพราะไม่ทราบว่าใน Norgesic® มียาพาราเซทามอลอยู่ด้วย เมื่อรวมกันแล้วใน 1 วันผู้ป่วยได้รับยาพาราเซทามอล 5,350   มิลลิกรัม ทั้งที่ไม่ควรกินพาราเซทามอลเกินกว่าวันละ 4,000 มิลลิกรัมหรือ 4 กรัม


หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยคือได้รับ ยาบรรเทาหวัด และ ยาแก้แพ้ ร่วมกัน แต่เมื่อพิจารณาจากชื่อยาสามัญพบว่า ส่วนประกอบของยาทั้งคู่ มีตัวยา คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต ซ้ำกัน โดยมีปริมาณ 2 มิลลิกรัม ในยาบรรเทาหวัด และ 4 มิลลิกรัมในยาแก้แพ้ หากใช้ยาสองขนานนี้ร่วมกัน จะทำให้ได้รับยาเกินขนาด


ในการใช้ยาทุกครั้งจึงควรอ่านทั้งชื่อการค้า ชื่อสามัญทางยา รวมทั้งปริมาณยา เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการใช้ยาซ้ำซ้อนเกินความจำเป็นจากการได้รับยาหลายขนานที่มีองค์ประกอบของตัวยาเดียวกัน ซึ่งอาจกลายเป็นการใช้ยานั้นๆ เกินขนาดจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้


ปัจจุบันยาที่ได้จากโรงพยาบาลมักจะมีการเขียนชื่อยาทั้งชื่อการค้าและชื่อสามัญ รวมทั้งปริมาณยา แต่ยาที่ได้รับจากร้านยาและคลินิกส่วนใหญ่ยังไม่เขียนชื่อยาไม่ว่าชื่อการค้าหรือชื่อสามัญให้กับผู้ป่วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาซ้ำซ้อนได้ ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะรู้ชื่อยาที่ตนเองใช้  จึงควรให้ผู้จ่ายยาเขียนชื่อยาให้ท่านทุกครั้งที่รับยา


บทความโดย :  รศ.ดร.ภญ.โพยม วงศ์ภูวรักษ์
                        ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์








บรรณานุกรม



  1. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook: A Comprehensive Resource for All Clinicians and Healthcare Professionals. Ohio: Lexi Comp In;2008.

  2. Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary 56, London: Pharmaceutical Press;2008.





: กาย
: บทความสุขภาพ
: สุขภาพดี

Share |
Payom 13 ก.ค. 2552 13 ก.ค. 2552
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย