เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลของหน้าฝนหรือหน้าหนาว โรคที่พบบ่อยมากโรคหนึ่งคือ "โรคหวัดธรรมดา" แม้ปัจจุบันนี้มีโรคหวัดสายพันธุ์ใหม่ ๆ เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมูหรือไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่โรคหวัดที่พบบ่อยก็ยังคงเป็น "โรคหวัดธรรมดา"
ปัญหาที่ผู้เขียนพบเสมอเมื่อไปจ่ายยาที่ร้านยา คือ คนส่วนมากเข้าใจว่าเมื่อเป็นหวัดและเจ็บคอต้องกินยาปฏิชีวนะหรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า "ยาแก้อักเสบ" เช่น มาขอซื้อยา อะมอกซิซิลลิน (amoxicillin), แอมพิซิลลิน (ampicillin), อีริโทรไมซิน (erythromycin)
ความจริงแล้ว "ยาปฏิชีวนะ" หรืออาจเรียกว่า "ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย" ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า "antibiotics" หรือ "antibacterial" นั้นเป็นยารักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย หรือรักษาอาการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เนื่องจากเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียจะทำให้เกิดการอักเสบในบริเวณที่มีการติดเชื้อ เมื่อยาทำลายเชื้อหมดไปแล้ว อาการอักเสบนั้นก็จะหายไป การเรียกว่า "ยาแก้อักเสบ" เป็นการสื่อความหมายที่ไม่ถูกต้อง และทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เมื่ออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเกิดการอักเสบขึ้น ก็ต้องกิน "ยาแก้อักเสบ" ซึ่งส่วนใหญ่คิดว่าเป็น"ยาปฏิชีวนะ" ทั้งที่ยาปฏิชีวนะทำลายเชื้อโรคแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการอักเสบเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลในการแก้อักเสบทุกชนิด คำว่า "ยาแก้อักเสบ" ควรใช้กับยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่สามารถรักษาอาการอักเสบจากสาเหตุใด ๆ ก็ได้ ตัวอย่างของยาต้านอักเสบ (anti-inflammatory drug) เช่น ไดโคลฟีแนก (diclofenac), อินโดเมทาซิน (indomethacin), ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen)
โรคหวัดธรรมดาเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และอาการเจ็บคอก็เป็นอาการหนึ่งของโรคหวัดจากการติดเชื้อไวรัส เพราะมีการอักเสบจากการติดเชื้อในบริเวณลำคอ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในลำคอส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแต่เกิดจากเชื้อไวรัส การเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ และไม่ได้ทำให้โรคหายเร็วขึ้นแต่อย่างใด กลับทำให้เกิดปัญหาได้รับอาการไม่พึงประสงค์จากยาโดยไม่จำเป็น และอาจทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้นได้
อาการเจ็บคอที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ คือ ไม่มีไข้ มีน้ำมูกมาก ไอบ่อย เสียงแหบ การมีไข้สูงร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้คือ อาการเจ็บคอ หรือมีน้ำมูกมาก หรือไอมาก หรือมีเสียงแหบ หรือเมื่อหวัดใกล้หายแล้วน้ำมูกมีลักษณะเป็นสีเขียวเหลืองนั้นไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
หากสงสัยว่าเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรียควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อวิเคราะห์ดูอาการให้ชัดเจนและเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับโรคต่อไป
บทความโดย : รศ.ดร.ภญ.โพยม วงศ์ภูวรักษ์
ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บรรณานุกรม
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล (Antibiotic smart use). ปรับปรุงครั้งที่, 2551.
- Welliver RC. Chapter 76 - Viral Respiratory Infections. In: Rakel RE, Bope ET, eds. Rakel & Bope: Conn's Current Therapy. 60thed. Philadelphia: Saunders Elsevier,2008.
- David G, Roger F, Peter D, Mark W. Chapter 8: The problem of resistance. In: Greenwood D, Finch R, Davey P, Wilcox M., eds. Antimicrobial Chemotherapy. 5th ed. Oxford University Press;2007.
ภาพจาก flickr
คนไข้ที่ ไอเจ็บคอ แบบ ร้อน เล่าว่า ไม่ทานยาปฏิชีวนะ ไม่หายเจ็บคอ หรือ หายช้ามาก
เพราะเขาไม่มีสมุนไพรอื่น ให้เลือก ทาน จึง ทานยาปฏิชีวนะ บางตัวแล้ว สังเกตุผล
หากมีสมุนไพร แนะนำ ให้ทานได้ เขาก็ไม่ทานยาปฏิชีวนะ