ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย/อาการ:
อ่าน: 16
แผลกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer )
โรคแผลกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) คือโรคที่มีแผลเกิดในกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง พบได้ประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั่วไป และพบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แบ่งเป็น 2 ชนิด ตามตำแหน่งที่เกิดแผล คือ
โรคแผลที่กระเพาะอาหาร (gastric ulcer) : มักพบในวัยกลางคน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า
โรคแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenal ulcer) : พบมากกว่าแผลที่กระเพาะอาหารประมาณ 2 เท่า โดยพบบ่อยในวัยหนุ่มสาว (อายุเฉลี่ยของผู้เป็นโรคนี้ คือ 35 ปี) และพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า
อาการปวดท้อง : เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด โดยมีลักษณะคือ
ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือหน้าท้องช่วงบน
มักเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว และมักจะบรรเทาได้ด้วยอาหารหรือยาลดกรด ดังนั้นอาการปวดท้องจึงเป็นเฉพาะบางช่วงเวลาของวัน
ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว
อาการปวดท้อง มักจะเป็นๆหายๆ โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ แล้วหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีก
ระยะเวลาที่ปวด : แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นอาการปวดท้องจะเกิดขึ้นภายหลังรับประทานอาหาร 2-3 ชั่วโมง หรือขณะท้องว่าง ส่วนแผลที่กระเพาะอาหาร อาการปวดจะเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร 30-60 นาที และจะปวดอยู่นาน 60-90 นาที
ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น เกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะมากกว่าปกติ ซึ่งทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวของลำไส้เล็กส่วนต้นแล้วเกิดเป็นแผลขึ้นมา โรคนี้พบมากในคนที่เคร่งเครียดกับการงาน รับประทานอาหารไม่เป็นเวลาและวิตกกังวล นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบ ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง และโรคตับอักเสบเรื้อรัง อาจจะเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นได้ ดังนั้นผนังเยื่อบุของกระเพาะและลำไส้จึงต้องมีกลไกในการปรับสภาพให้ทนต่อกรดและน้ำย่อยได้ จึง ไม่เกิดแผลในภาวะปกติ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลได้แก่ การติดเชื้อ เอช.ไพโลไร (H.pylori), ยาแก้ปวดข้อและกระดูก, ยาแอสไพริน, ความเครียด, เหล้าและบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้มีการหลั่งกรดออกมามากกว่าที่เยื่อบุกระเพาะและลำไส้จะทนได้จึงทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
แผลที่กระเพาะอาหารเกิดจากความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารเสื่อมลง แต่ไม่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาการมากกว่าปกติ อาจมีสาเหตุมาจากยา เช่น แอสไพริน (aspirin) กลุ่มยาแก้ปวดต้านการอักเสบ(NSAIDs) หรือเกิดจากน้ำดีขย้อนจากลำไส้เล็กขึ้นมาที่กระเพาะอาหารก็ได้ นอกจากนี้อาจพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคปอด โรคไต หรือโรคมะเร็ง
ปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น
บุหรี่ ทำให้มีการผลิตกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้แผลหายช้า
ยา บางอย่าง มี ผลทั้งระคายเคืองกระเพาะอาหารโดยตรง และทำให้กลไกการป้องกันในกระเพาะอาหารเสียไป ได้แก่ ยาแอสไพริน กลุ่มยา NSAIDs ที่ใช้รักษาโรคข้อแก้ปวด ยาในกลุ่มเสตียรอยด์ ฯลฯ
ความเครียดความกังวล ทำให้มีการหลั่งกรดมากขึ้น
กินอาหารไม่เป็นเวลา
พักผ่อนน้อย
การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ในเยื่อบุกระเพาะอาหาร เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
การซักประวัติ : เพื่อดูว่าอาการของผู้ป่วยเข้าได้กับโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือไม่ และดูว่าผู้ป่วยมีอาการเตือนที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งของกระเพาะอาหารหรือไม่ เช่น เบื่ออาหาร,น้ำหนักลด,ซีด,มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
การตรวจร่างกาย : ดูว่ามีอาการซีดหรือไม่ , ตรวจบริเวณช่องท้องว่าคลำได้ก้อนหรือไม่ และคลำบริเวณคอหรือขาหนีบว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจบ่งบอกถึงมะเร็งในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
ตรวจเลือด : ดูว่ามีภาวะซีดร่วมด้วยหรือไม่
ตรวจอุจจาระเพื่อดูว่า มีลือดออกในทางเดินอาหารหรือไม่ : เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ว่ามีแผลหรือมะเร็งในทางเดินอาหารส่วนต้นหรือไม่ ก่อนที่จะพิจารณาส่งผู้ป่วยไปส่องกล้องทางปากต่อไป
การส่องกล้องในทางเดินอาหาร : มีประโยชน์คือ
ช่วยยืนยันการวินิจฉัยว่ามีแผลในกระเพาะอาหารจริงหรือไม่ รวมทั้งทำให้ทราบถึงขนาดและตำแหน่งของแผลด้วย
สามารถตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรได้ โดยการคีบชิ้นเนื้อเล็ก ๆ ขนาด 2-3 มิลลิเมตร มาตรวจหาเชื้อ
ตัดชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจพยาธิสภาพ ในกรณีที่สงสัยมะเร็งกระเพาะอาหาร ( คือ ผู้ป่วยรายที่สงสัยว่าป่วยเป็น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ แต่ให้การรักษาด้วยยาลดกรดและยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร แล้วอาการไม่ดีขึ้น)
ตรวจหาการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ซึ่งมักพบร่วมกับการเกิดแผลในทางเดินอาหาร ทำโดย
การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร : ถ้าผู้ป่วยมีผลเลือดเป็นบวก แสดงว่ากำลังมีการติดเชื้อดังกล่าว
การตรวจหาสารยูเรียจากลมหายใจ เนื่องจากเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร มีสามารถในการเปลี่ยนกรดให้กระเพาะอาหารให้กลายเป็นสารยูเรียซึ่งจะระเหยปนออกมากับลมหายใจ ทำให้เมื่อมีการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร จะสามารถตรวจพบยูเรียในลมหายใจได้
นำชิ้นเนื้อที่ได้จากตอนส่องกล้อง มาตรวจหาเชื้อส่งตรวจพยาธิสภาพได้
เลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร : พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หรือหน้ามืด วิงเวียน เป็นลม โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
กระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก
กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะกินได้น้อย อิ่มเร็ว มีอาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
การรักษาโรคแผลกระเพาะอาหารจะประกอบด้วยสองส่วนคือ
การรักษาแผล
ให้ยาลดกรดหรือยาที่ช่วยป้องกันเยื่อบุกระเพาะอาหาร : แพทย์ มักจะให้ยากลุ่มลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร หรือ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ยา Cimetidine Ranitidine Omeprazole Sucralfate ซึ่งยังมีอีกหลายชนิด หลายกลุ่ม ส่วนใหญ่แพทย์มักไม่ให้ยาน้ำเคลือบผิวผนังกระเพาะอาหาร เช่น Alum milk หรือยาธาตุน้ำขาว เพราะการใช้ยา Alum milk อย่างเดียว เพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต้องกินบ่อยครั้งในปริมาณมาก จนอาจมีผลข้างเคียงของยาได้ บางครั้ง แพทย์ อาจให้ Alum milk มาใช้บรรเทาอาการ ร่วมกับยาอื่นก็ได้ การรักษาด้วยยาอาจใช้เวลา 4-8 สัปดาห์
การกำจัดสาเหตุของแผล ได้แก่ การหยุดยาแก้ปวดต้านการอักเสบ (NSAIDs) และการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดแผล
การกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร : สามารถกำจัดได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งประกอบด้วยยาปฏิชีวนะ 2 ชนิด และยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ใช้ร่วมกันในการรักษา โดยจะต้องรับประทานยา 2 สัปดาห์
ส่วนในกรณีของอาการปวดท้องกระเพาะอาหารที่ไม่ทราบสาเหตุนั้นการรักษาที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นต่างๆ การลดความวิตกกังวลและความเครียดและการยอมรับว่าการรักษาอาจจะไม่ได้ทำให้อาการหายไปทั้งหมด ร่วมกับการให้ยาเพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้น ในขณะที่การให้ยาเพื่อกำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรีนั้นจะไม่มีความสำคัญนัก
คำแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย : พึงระลึกไว้เสมอว่า โรคแผลกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มักไม่หายขาดตลอดชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังได้รับยา อาการปวดจะหายไปก่อน ใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 4-8 สัปดาห์ แผลจึงหาย เมื่อหายแล้ว จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีกถ้าไม่ระวังปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง หลักการปฏิบัติตัว ได้แก่
รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ถ้ารู้สึกหิวก่อนเวลาอาจดื่มนมช่วยก็ได้
หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ระคายเคืองต่อกระเพาะ เช่น แอสไพริน (aspirin), เพรดนิโซโลน (prednisolone), เดกซาเมธาโซน (dexamethasone), อินโดเมธาซิน (indomethacin) ยากลุ่มแก้ปวดต้านการอักเสบ (NSIADs) เป็นต้น
งดสูบบุหรี่ และงดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เพราะอาจกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดมากขึ้น
พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
ผู้ที่มีอาการปวดท้องตอนกลางคืน อาจรับประทานอาหารอ่อนๆ หรือดื่มนม 1 แก้ว ก่อนนอน ร่วมกับยาลดกรด จะช่วยให้ปวดน้อยและหายไปได้
ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียดหรือหงุดหงิดง่าย
กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่กินให้บ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย์
ควรพบแพทย์เมื่อ
มีอาการเสียดแน่นรุนแรง และมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หอบแน่น หายใจลำบากร่วมด้วย
มีอาการอาเจียนร่วมด้วย หรือสังเกตว่าถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
มีอาการปวดท้องเรื้อรังมานาน หรือเป็นๆ หายๆ มานาน
มีอาการน้ำหนักตัวลดอย่างชัดเจน
WWW .mayoclinic.com
ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ และ ธนิต วัชรพุกก์. ตำราศัลยศาสตร์. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2546;531-547.
วิทยา ศรีดามา. Evidence-based clinical practice guideline ทางอายุรกรรม 2548. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2548
H. pylori and peptic ulcer. National Digestive Diseases Information Clearinghouse. http://digestive.niddk.nih.gov/ddiseases/pubs/hpylori/. Accessed Oct. 16, 2008.
What I need to know about peptic ulcers. National Digestive Diseases Information Clearinghouse. http://digestive.niddk.nih.gov/ddiseases/pubs/pepticulcers_ez/. Accessed Oct. 16, 2008.
Peptic ulcer disease. American Gastroenterological Association. http://www.gastro.org/frame-templates/print_template.cfm. Accessed Oct. 16, 2008.
ร่วมเขียนโดย นพ.ธีรภาพ ลิ่วลักษณ์
เขียนเมื่อ 04 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 19 มิถุนายน 2553
เนื้อหาเกี่ยวกับโรคทั้งหมดเรียบเรียงโดยแพทย์หรือนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การดูแลของแพทย์ และผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพเนื้อหาโดยแพทย์อีกอย่างน้อย 1 ท่าน เนื้อหาในเว็บไซต์นี้ ไม่มุ่งประโยชน์ทางการค้า และไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรแสวงหาผลกำไรใด ๆ