จากพยาธิสภาพของของโรคมะเร็งและการรักษาโรคที่มีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย ความยากลำบากในการเคี้ยวและกลืนอาหาร การเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนและมีความผิดปกติของกระบวนการเผลาผลาญ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดสารอาหาร เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย หากผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการดีมาก่อน จะทำให้ลดอาการข้างเคียงของการรักษา
อาหารที่จำเป็นต่อการรักษาภาวะโภชนาการ
- กลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้งและน้ำนม เป็นสารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้ เพราะเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งกล้ามเนื้อ ผิวหนัง อวัยวะต่างๆ ล้วนเป็นเนื้อเยื่อ มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง รับประทานเนื้อปลาอย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ เต้าหู้ ไข่ไก่ และควรหลีกเลี่ยงวิธีการปรุงอาหารด้วยการใช้น้ำมันมากๆ
- กลุ่มข้าว แป้งและธัญพืชต่างๆ เป็นสารอาหารให้พลังงานแก่ร่างกาย ควรรับประทานข้าวและธัญพืชที่ขัดสีแต่น้อย เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ถั่วต่างๆ ลูกเดือย ฯลฯ
- น้ำมัน เป็นสารอาหารที่ถือว่าเป็นจอมพลังงานเพราะให้พลังงานและความอบอุ่นมากกว่าโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต รวมทั้งไขมันบางชนิดจะเป็นชนิดที่ร่างกายขาดไม่ได้ เรียกว่าไขมันจำเป็น เพราะช่วยดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และเค ที่ละลายในไขมัน ควรเลือกใช้น้ำมันที่มีคุณภาพดี เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันเมล็ดชา ฯลฯ
- กลุ่มผักและผลไม้ ควรรับประทานให้หลากหลายชนิด หมุนเวียนสลับกันไป ผัก สมารถรับประทานได้ทั้งดิบและสุกอย่างน้อย 5 ทัพพีต่อวัน และผลไม้ควรเลือกที่ไม่หวานจัด รับประทานไม่ควรเกิน 3-4 ขีดต่อวัน เนื่องจากผักผลไม้มีกากใยอาหารสูง จะช่วยให้ระบบขับถ่ายสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกายได้รวดเร็ว
- น้ำ เป็นสารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้ มนุษย์อาจอดอาหารได้เป็นเดือนๆ แต่ถ้าไม่ดื่มน้ำ 2-3 วัน ก็อาจเสียชีวิตได้ น้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับสองรองจากออกซิเจน
ข้อละเว้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
- ไม่รับประทานอาหารที่มีราขึ้น เลือกอาหารแห้งที่สด ใหม่
- ลดอาหารไขมัน
- อาหารดองเค็ม อาหารปิ้งย่าง รมควัน และอาหารที่ถนอมด้วยเกลือไนเตรท-ไนไตรท์ อาหารเหล่านี้จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ใหญ่
- ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารประเภทนี้ เช่น ก้อยปลา ปลาจ่อม ฯลฯ
- หยุดหรือลดการสูบบุหรี่ สูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด กล่องเสี่ยง ฯลฯ
อาหารที่ควรงดสำหรับโรคมะเร็ง อาหารกลุ่มที่ทำให้ท้องอืด แน่นท้อง ย่อยยาก เช่น
- ข้าวเหนียว เนื่องจากจะทำให้จุกแน่น ย่อยยาก กระเพาะอาหารทำงานหนักมากกขึ้น
- กล้วยหอม เพราะมีโปแตสเซียม (K+) สูงซึ่งโปแตสเซียมทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น
- เนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ที่ติดมัน หนังไก่ ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว นม แทน
- อาหารเผ็ด รสจัด เพราะจะทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร การดูดซึมสารอาหารในลำไส้ลดลง ลำไส้ทำงานหนักขึ้น รวมทั้งอาจเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
- ผักที่ใช้ เน้นผักที่ย่อยง่ายๆ เช่น แครอท ฟักทอง ฟักเขียว ผักใบควรหั่นหรือซอยเป็นชิ้นเล็กๆ ควรรับประทานผักที่สุกแล้ว เนื่องจากผักบางประเภทมีแก๊สสูง เช่น ผักตระกูลกะหล่ำ มะเขือต่างๆ
- อาหารไขมันสูง เช่น อาหารประเภททอดในน้ำมันมากๆ หลีกเลี่ยงการใช้เนื้อสัตว์ที่มีมัน เช่น หมูสามชั้น หมูติดมัน หนังไก่ ไส้กรอก แฮม เบคอน เป็นต้น และกรรมวิธีการปรุงอาหารหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันเยอะๆ กะทิ อาหารประเภทเบเกอรี่
- อาหารเค็มจัด เพราะมีโซเดียม (Na+) สูง
- เครื่องดื่มพวกน้ำอัดลม เพราะมีแก๊ส ทำให้แรงดันในลำไส้สูงขึ้น อาจเกิดท้องเดิน ท้องเสียได้
การดัดแปลงอาหารกรณีผู้ป่วยมีอาการต่างๆ
เบื่ออาหาร
- จัดอาหารเป็นมื้อเล็กๆ 4-6 มื้อ ให้เครื่องดื่มเสริมพลังงาน เช่น น้ำผลไม้ปั่นที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน หรือไอศกรีม
การรับรสเปลี่ยนไป
- เน้นการใช้เครื่องเทศหรือกลิ่นต่างๆ แต่ต้องไม่ฉุนจัดเกินไป
ท้องผูก
- ดื่มน้ำเยอะๆ หรือน้ำลูกพรุน น้ำผลไม้อุ่นๆ เพิ่มการรับประทานอาหารประเภทเส้นใย เช่น ข้าวกล้อง ธัญพืช (ลูกเดือย ถั่วเขียวซีก ถั่วแดง ฯลฯ ) ออกกำลังกายด้วยการเดินเบาๆ ไปจนกระทั่งออกแรงเพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว
อ้างอิง แก้ว กังสดาลอำไพ, มลฤดี สุขประสารทรัพย์. หลักฐานเชิงประจักษ์ของอาหารไทยกับการป้องกันมะเร็ง ในการประชุมวิชาการนักกำหนดอาหารประจำปี 2552 เรื่องการกำหนดอาหารกับโลกที่เปลี่ยนแปลง 27-29 พฤษภาคม 2552. กรุงเทพฯ; หน้า 69-86
ที่มา
งานโภชนาการ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์