การออกกำลังกายนับเป็นการเสริมสร้างสุขภาวะด้านร่างกายและจิตใจให้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เคยประสบกับการป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมมีสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น เมือเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกาย
การวิจัยครั้งนี้ศึกษาจากผู้หญิงชาวจีนจำนวน 1,829 คน มีอายุเฉลี่ย 54 ปี ซึ่งเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมระหว่างปี 2002–2008 พบว่าผู้หญิงที่ออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสม จะมีความสามารถในการใช้ชีวิตและการทำงานหรือเรียนหนังสือได้ดี มีความเครียดน้อยลง มีรูปร่างที่สมส่วนและมีความสัมพันธ์อันดีกับคนใกล้ชิด
และพบว่า 95% เป็นผู้ป่วยที่ผ่าตัดเต้านมออก 92% เป็นผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและ 28% เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี ซึ่งประมาณ 69% ของผู้ป่วยเป็นผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 6 เดือนหลังจากป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม และ 74% ของผู้ป่วยเป็นผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 36 เดือนหลังหายจากอาการป่วยดังกล่าว
ตัวอย่างการออกกำลังกายในอัตราที่เหมาะสมคือ การเดินเร็วภายใน 45 นาทีเป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ หรือวันละ 20 นาที การฝึกโยคะ 40 นาทีเป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ หรือวันละ 20 นาที การเต้นแอร์โรบิค 30 นาที เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ หรือวันละ 12 นาที เป็นต้น
นักวิจัยกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้นับเป็นหลังฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้รอดชีวิตจากโรมะเร็งเต้านม
สำนักข่าว REUTERS