อ่าน: 6098
Small_font Large_font

Loratadine and Pseudoephedrine (ยาสูตรผสมระหว่างลอแรทาดีน และซูโดเอฟรีดิน)

คำอธิบายพอสังเขป

ลอแรทาดีน (loratadine) เป็นยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) ออกฤทธิ์โดยป้องกันผลของสารที่เรียกว่าฮิสตามิน (histamine) ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายในร่างกาย ฮิสตามีน (histamine) ทำให้เกิดอาการคัน จาม น้ำมูกไหลหรือน้ำตาไหล ลอแรทาดีน (loratadine) ไม่ควรใช้สำหรับลดน้ำมูกจากไข้หวัดธรรมดาเพราะมีฤทธิ์ลดน้ำมูกได้น้อย ให้ใช้ในกรณีมีน้ำมูกจากการแพ้

ซูโดเอฟรีดิน (pseudoephedrine) เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้เส้นเลือดหดตัวส่งผลทำให้ทางเดินหายใจภายในจมูกโล่งขึ้น แต่อาจทำให้เพิ่มความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีประวัติการแพ้ยาลอแรทาดีน (loratadine) หรือ ซูโดเอฟรีดิน (pseudoephedrine) หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'C' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีรายงานการศึกษาที่ควบคุมอย่างดีในมนุษย์ หรือ ไม่มีรายงานการศึกษาในมนุษย์และสัตว์ถึงผลของยาต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้น ควรใช้ยานี้เมื่อมีการประเมินแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

การใช้ยาสูตรผสมระหว่างลอแรทาดีนและซูโดเอฟรีดิน (loratadine and pseudoephedrine) เป็นครั้งคราวอาจไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อตัวอ่อนในครรภ์ อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ยานี้ในขนาดสูงและ/หรือเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้โอกาสการเกิดปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้น สำหรับส่วนผสมของตัวยาสำคัญแต่ละตัวในยาสูตรผสมนี้ ควรพิจารณาดังนี้

  • แอลกอฮอล์ ควรระมัดระวังในการเลือกใช้ยาสูตรผสมของยานี้เพราะบางตำรับมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง
  • ลอแรทาดีน (loratadine) ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้แม้ว่าจะยังไม่พบว่าทำให้เกิดปัญหาในมนุษย์
  • ซูโดเอฟรีดิน (pseudoephedrine) หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาถึงผลการเกิดทารกวิรูปจากการใช้ซูโดเอฟรีดิน (pseudoephedrine) ในมนุษย์ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าซูโดเอฟรีดิน (pseudoephedrine) ไม่ทำให้เกิดทารกวิรูปแต่เมื่อให้ยาในขนาดสูงพบว่าทำให้น้ำหนักเฉลี่ย ความยาวและอัตราการสร้างกระดูกในตัวอ่อนของสัตว์ทดลองลดลง

กำลังให้นมบุตร

ยาสูตรผสมระหว่างลอแรทาดีนและซูโดเอฟรีดิน (loratadine and pseudoephedrine) สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ปริมาณเล็กน้อย ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีให้นมบุตร เนื่องจากการใช้ยานี้อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น เช่น กระตือรือร้นผิดปกติหรือกระสับกระส่ายในเด็กที่ได้รับนมมารดาและอาจทำให้สารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกายลดลง อาจทำให้อัตราการไหลของน้ำนมลดลงและอาจทำให้ปริมาณน้ำนมในสตรีบางรายลดลง ยังไม่ทราบว่าลอแรทาดีน (loratadine) ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเช่นเดียวกับยาตัวอื่นหรือไม่

เด็ก

ในเด็กที่เล็กมากๆ มักไวต่อฤทธิ์ของยานี้ อาจพบภาวะความดันโลหิตสูง ฝันร้าย กระตือรือร้นผิดปกติหรือกระสับกระส่ายและมีผลกระทบต่อสภาวะจิตใจ ก่อนที่จะใช้ยาสูตรผสมนี้ในเด็ก ควรอ่านเอกสารกำกับยาอย่างละเอียด ยาบางตัวในยาสูตรผสมนี้อาจแรงเกินไปสำหรับเด็ก หากท่านไม่แน่ใจว่ายาใดบ้างที่สามารถใช้ในเด็กหรือหากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับขนาดยาที่ใช้ในเด็ก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักไวต่อฤทธิ์ของยา อาจทำให้เกิดอาการสับสน ปัสสาวะลำบากและเจ็บ มึนงง ง่วงซึม ปากแห้ง ในผู้สูงอายุที่ได้รับยานี้ อาจมีอาการฝันร้ายหรือกระตือรือร้นผิดปกติ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หรือหงุดหงิดได้

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น เมื่อท่านจะรับประทานยาสูตรผสมระหว่างลอแรทาดีนและซูโดเอฟรีดิน (loratadine and pseudoephedrine) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

  • แอลกอฮอล์ อาจทำให้อาการง่วงซึมรุนแรงขึ้น
  • ยาต้านโคลิเนอร์จิค (anticholinergics) (ยาสำหรับบรรเทาอาการปวดเกร็งท้อง) อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงของฤทธิ์ต้านฮิสตามีน (antihistamines) หรือฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิค (anticholinergics) เช่น ปากแห้ง
  • ยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางหรือฤทธิ์ต้านฮิสตามีน (antihistamine) อาจรุนแรงขึ้น เช่น ง่วงซึม
  • ดิจิทัลลิส ไกลโคไซด์ (digitalis glycosides) การใช้ยานี้อาจมีผลต่อชีพจร
  • มาโพรทิลีน (maprotiline)
  • ยาต้านซึมเศร้าที่มีโครงสร้างเป็นไตรไซคลิก (tricyclic antidepressant)
  • ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โมโนเอมีน อ็อกซิเดส [(monoamine oxidase (MAO) inhibitor activity)] หากท่านกำลังรับประทานยาเหล่านี้หรือเคยรับประทานยาเหล่านี้ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจทำให้อาการข้างเคียงของยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) รุนแรงยิ่งขึ้น ห้ามใช้ยา 2 กลุ่มนี้ร่วมกัน
  • ราโวลเฟีย แอลคาลอยด์ (rauwolfia alkaloids) อาจเพิ่มฤทธิ์หรือลดฤทธิ์ของยาบรรเทาอาการคัดจมูก

หากท่านจะรับประทานยาต้านฮิสตามีนและบรรเทาอาการคัดจมูก (antihistamines and decongestants) ที่มีซูโดเอฟรีดินเป็นส่วนประกอบ ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้อยู่

  • อะแมนทาดีน (amantadine)
  • แอมเฟตามีน (amphetamine)
  • ยาลดความอยากอาหารชนิดรับประทาน (ยกเว้นเฟนฟลูรามีน (fenfuramine))
  • คาเฟอีน (caffeine)
  • คลอฟีไดอะนอล (chlorphedianol)
  • ยาสำหรับโรคหอบหืดหรือภาวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ
  • ยาสำหรับไข้หวัด ปัญหาเกี่ยวกับไซนัสหรือไข้ละอองฟางหรือปัญหาการแพ้อื่นๆ
  • เมธิลฟีนิเดท (methyphenidate)
  • พีโมลิน (pemolin) การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาสูตรผสมระหว่างยาต้านฮิสตามีนและยาบรรเทาอาการคัดจมูก (antihistamines and decongestants) อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้ได้ เช่น กระตือรือร้นผิดปกติ นอนหลับยาก อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ กระสับกระส่ายหรือกระวนกระวาย
  • ยาปิดกั้นตัวรับเบตาอะดรีเนอร์จิค (beta-adrenergic blocking agents) การใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาสูตรผสมระหว่างยาต้านฮิสตามีนและยาบรรเทาอาการคัดจมูก (antihistamines and decongestants) อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ (เช่น ชีพจรเต้นช้าผิดปกติ)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาการเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาสูตรผสมระหว่างไตรโพลิดีนและซูโดเอฟรีดิน (tripolidine and pseudoephedrine) ท่านควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย

  • โรคเบาหวาน ยาบรรเทาอาการคัดจมูกในยานี้อาจทำให้ความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้น
  • ต่อมลูกหมากโต
  • ปัสสาวะคั่งหรือปัสสาวะลำบาก ฤทธิ์ต้านฮิสตามีน (antihistamines) บางอย่างอาจทำให้ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะรุนแรงขึ้น
  • โรคต้อหิน ยานี้อาจมีผลทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้น
  • โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคความดันโลหิตสูง ยาบรรเทาอาการคัดจมูก (decongestants) ในยานี้อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นและเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ
  • โรคไต อาจทำให้ระดับของลอแรทาดีน (loratadine) ในเลือดสูงขึ้น ทำให้โอกาสการเกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้นจึงต้องลดขนาดยาของลอแรทาดีน (loratadine) ในยาสูตรผสมนี้ การลดขนาดยาแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดยาลง ห้ามปรับขนาดยาเองโดยเด็ดขาด
  • โรคตับ อาจทำให้ระดับของลอแรทาดีน (loratadine) ในเลือดสูงขึ้น ทำให้โอกาสการเกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้น
  • ไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไปอาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งยาบรรเทาอาการคัดจมูก (decongestants) ในยานี้อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วได้เช่นกัน
  • ปัสสาวะคั่ง ภาวะนี้อาจแย่ลงเมื่อรับประทานยาสูตรผสมระหว่างยาต้านฮิสตามีนและยาบรรเทาอาการคัดจมูก (antihistamines and decongestants) ที่มีซูโดเอฟรีดิน (pseudoephedrine) เป็นส่วนประกอบ

การใช้ที่ถูกต้อง

รับประทานยานี้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่ารับประทานยานี้มากเกินไปหรือบ่อยเกินไป และห้ามรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่าที่ระบุไว้บนฉลากหรือเกินกว่าที่ระบุในใบสั่งยาของแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้โอกาสของการเกิดอาการข้างเคียงเพิ่มขึ้น

หากรับประทานยาแล้วมีการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือดื่มนมหรือน้ำตามมาก ๆ

สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยานี้ในรูปแบบแคปซูลหรือยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์เนิ่นหรือออกฤทธิ์นาน

  • ควรกลืนยาเม็ดทั้งเม็ด
  • ห้ามหัก แบ่งหรือเคี้ยวก่อนกลืนยา
  • หากแคปซูลมีขนาดใหญ่ กลืนยาก ท่านอาจผสมส่วนประกอบในแคปซูลลงในเจลลี่ น้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมแล้วกลืนโดยไม่ต้องบดหรือเคี้ยว

ขนาดยา

ในท้องตลาดมียาสูตรผสมระหว่างลอแรทาดีนและซูโดเอฟรีดิน (loratadine and pseudoephedrine) มากมาย เภสัชภัณฑ์บางรายการใช้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้นในขณะที่บางตัวอาจใช้ในเด็กได้ หากท่านมีข้อสงสัยควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์

ขนาดยาของยาสูตรผสมระหว่างลอแรทาดีนและซูโดเอฟรีดิน (loratadine and pseudoephedrine) อาจแตกต่างกันในแต่ละเภสัชภัณฑ์ จำนวนของแคปซูลหรือยาเม็ดหรือจำนวนช้อนชาของยาที่รับประทานขึ้นอยู่กับความแรงของยา เช่น จำนวนครั้งของการใช้ยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านใช้ยาขึ้นอยู่ว่าท่านกำลังรับประทานยานี้ในรูปแบบออกฤทธิ์นานหรือรูปแบบออกฤทธิ์สั้นและสภาวะของท่านที่ท่านต้องใช้ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) และยาบรรเทาอาการคัดจมูก (decongestants)

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ ถ้าใกล้ถึงมื้อต่อไปให้ข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยาปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

การเก็บรักษา

  • เก็บให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาแคปซูลหรือยาเม็ดไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ห้ามเก็บยารูปแบบของเหลวในช่องแช่แข็ง
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

ก่อนที่ท่านจะทำการทดสอบการแพ้ที่ผิวหนัง โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังใช้ยานี้อยู่ เนื่องจากลอแรทาดีน (loratadine) ในยาสูตรผสมอาจรบกวนผลการทดสอบ

หากท่านจะรับประทานยาสูตรผสมระหว่างลอแรทาดีนและซูโดเอฟรีดิน (loratadine and pseudoephedrine) โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ให้ทราบหากท่านกำลังรับประทานแอสไพริน (aspirin) ในปริมาณสูงด้วย (เช่น สำหรับรักษาข้ออักเสบหรือรูมาตอยด์) เนื่องจากผลของแอสไพรินเกินขนาดเช่น ได้ยินเสียงในหู อาจถูกบดบังด้วยฤทธิ์ของไตรโพลิดีน (tripolidine)

ยานี้จะเสริมฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และยากดระบบประสาทส่วนกลางตัวอื่นๆ (ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม) ตัวอย่างของยากดระบบประสาทส่วนกลางคือ ยาต้านฮิสตามีนหรือยาสำหรับไข้ละอองฟาง อาการแพ้อื่นๆ หรือไข้หวัด, ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ, ยาบรรเทาปวดตามใบสั่งยาของแพทย์หรือนาร์โคติก, บาบิทูเรต (barbiturates), ยากันชัก, ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาสลบรวมถึงยาสลบที่ใช้ทางทันตกรรม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาดังกล่าวในขณะที่ท่านกำลังใช้ยานี้

ลอแรทาดีน (loratadine) อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการง่วงซึม เวียนศีรษะหรือมึนงง ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักรหรือทำอะไรก็ตามที่อาจทำให้เกิดอันตรายถ้าหากท่านมีอาการมึนงงหรือไม่ตื่นตัว

ลอแรทาดีน (loratadine) อาจทำให้ปากแห้ง คอแห้ง จมูกแห้งได้น้อยมาก สำหรับการบรรเทาอาการปากแห้งชั่วคราวควรใช้ลูกอมหรือหมากฝรั่งที่ปราศจากน้ำตาล อมก้อนน้ำแข็งให้ละลายในปากหรือใช้สารทดแทนน้ำลาย หากท่านรู้สึกว่าปากแห้งติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ควรปรึกษาทันตแพทย์ อาการปากแห้งติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์อาจทำให้เกิดโรคภายในช่องปากรวมถึงฟันผุ โรคเหงือกและติดเชื้อราได้ง่าย

ซูโดเอฟรีดิน (pseudoephedrine) อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการกระสับกระส่ายหรือกระวนกระวายหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ หากท่านมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับให้รับประทานยานี้ 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน หากท่านมีข้อสงสัยใดๆควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

  • รับประทานยานี้มากเกินไป
  • รับประทานยานี้ในขนาดสูง
  • รับประทานยานี้เป็นระยะเวลานาน

ก. ควรได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนถ้ามีอาการของการได้รับยาเกินขนาดต่อไปนี้เกิดขึ้น

  • ยาอาจทำให้เกิดการชัก, ง่วงซึม (รุนแรง), ปากแห้ง คอแห้ง จมูกแห้ง, ชีพจรเต้นเร็ว, หน้าแดง, ประสาทหลอน (เห็นภาพหลอน, หูแว่วหรือคิดไปเองในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง), ปวดศีรษะ (เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานานและ/หรือรุนแรง), เหงื่อออกมาก, คลื่นไส้หรืออาเจียน (รุนแรงหรือเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน), หายใจสั้นและหายใจผิดปกติ, ปวดเกร็งหน้าท้อง (รุนแรงหรือเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน), การนอนหลับผิดปกติ

ข. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการข้างเคียงใดๆ ต่อไปนี้เกิดขึ้น

พบน้อยหรือน้อยมาก

  • ปวดหลัง ปวดขาหรือปวดท้อง, อุจจาระมีสีดำและเหนียว, เหงือกมีเลือดออก, ปัสสาวะมีสีเข้มหรือดำ, ปริมาณปัสสาวะลดลงเฉียบพลัน, ความดันโลหิตสูง, มองภาพเบลอ, เจ็บหน้าอก, สับสน, ท้องร่วง, มึนงง, เป็นลมหรือรู้สึกหมดสติเมื่อลุกทันทีจากท่านอนหรือท่านั่ง, มีไข้หรือหนาวสั่น, อุจจาระมีสีซีด, อารมณ์เปลี่ยนแปลง, เลือดกำเดาไหล, เจ็บคอและมีไข้, มีผื่นที่ผิวหนังหรือผื่นลมพิษ, ทารกตายในครรภ์หรือขณะคลอด, ปวดบวม คอบวม หน้าบวม นิ้วบวม เท้าบวม, เหงื่อออกมาก แน่นหน้าอก, หายใจลำบาก, กระตุก, ใบหน้าบิดเบี้ยว เลือดออกผิดปกติหรือมีรอยช้ำ, เหนื่อยหรืออ่อนเพลียผิดปกติ, อาเจียนเป็นเลือด, น้ำหนักเพิ่มอย่างเฉียบพลัน, ตาหรือผิวหนังมีสีเหลืองหรือซีด

ค. อาการข้างเคียงอื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาซึ่งร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนานหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

พบบ่อย แต่พบน้อยมากในยาที่มีลอแรทาดีน (loratadine) เป็นส่วนผสม

  • ง่วงซึม, สารคัดหลั่งจากหลอดลมมีลักษณะเหนียวข้น

พบน้อย พบได้บ่อยเมื่อใช้ยาขนาดสูง

  • มองภาพเบลอ, สับสน, ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะแสบขัด, มึนงง , ปากแห้ง คอแห้ง หรือจมูกแห้ง, ปวดศีรษะ, เบื่ออาหาร, ฝันร้าย, ชีพจรเต้นเร็วมาก, ได้ยินเสียงในหู, ผื่นคัน, ตื่นเต้นผิดปกติ, กระสับกระส่าย, อ่อนเพลียหรือกระวนกระวาย, การนอนหลับผิดปกติ, อ่อนเพลียหรือง่วงซึม, เหนื่อยล้า

ง. อาการข้างเคียงอื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Brompheniramine maleate and Phenylephrine hydrochloride, Brompheniramine maleate and Pseudoephedrine hydrochloride, Carbinoxamine maleate and Pseudoephedrine hydrochloride, Chlorpheniramine maleate and Phenylephrine hydrochloride, Chlorpheniramine maleate and Pseudoephedrine hydrochloride, Diphenhydramine hydrochloride and Pseudoephedrine hydrochloride, Tripolidine and Pseudoephedrine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Clarinase 24 Hour Extended-release tab, Clarinase Repetab, Clarinase syr

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยานี้มีชื่อภาษาไทยอื่นที่มีการใช้ดังต่อไปนี้

ยาสูตรผสมระหว่างลอราทาดีนและซูโดเอฟรีดิน, ยาสูตรผสมระหว่างลอแรทาดีน และ สูโดเอฟรีดิน

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้ ซึ่งไม่ได้แสดงในนี้

แหล่งอ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 167-71.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 6, 2009).
  3. Joint Formulary Committee. British National Formulary. 57th ed. London: British Medical Association and Royal Pharmaceutical Society of Great Britain, 2009: 170, 819, 839.
  4. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

นรวร เจนณรงค์ , หทัยรัตน์ คังคะสุวรรณ
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
22 สิงหาคม 2552 15 ตุลาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย