อ่าน: 1255

หลังกินยาจะดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือนมแทนน้ำได้ไหม ?

หลังกินยาควรดื่มน้ำตามเพื่อช่วยให้ยาไม่ติดค้างในลำคอหรือหลอดอาหาร และให้ยาลงไปสู่กระเพาะและลำไส้ได้ดีขึ้น น้ำที่ดื่มหลังจากกินยาควรเป็นน้ำเปล่าจะดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาของยากับเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่น้ำ


อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิดสามารถดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมหรือนมแทนน้ำได้ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้ไม่มีผลต่อความคงตัวของยาหรือไม่มีผลต่อการถูกดูดซึมของยาในทางเดินอาหาร  แต่ยาบางชนิดเมื่อถูกกับกรดในน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมจะทำให้ยาสลายตัวได้ และมียาบางชนิดที่นมจะลดการดูดซึมของยา               


ยาบางชนิดห้ามกินยาพร้อมนม ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ



  1. ยาลดการดูดซึมยา โดยยาจะจับกับแคลเซียมในนมกลายเป็นสารประกอบเชิงซ้อนทำให้การดูดซึมยาในทางเดินอาหารลดลง  ตัวอย่างเช่น ยาปฏิชีวนะเททราไซคลีน (tetracycline) และ ดอกซีไซคลีน (doxycycline) แต่ยาดอกซีไซคลีนได้รับผลจากนมน้อยกว่าเททราไซคลีน  นอกจากนี้ยังมียาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มควิโนโลน (quinolone) เช่น นอร์ฟลอกซาซิน (norfloxacin), ซิโปรฟลอกซาซิน (ciprofloxacin) และ โอฟลอกซาซิน (ofloxacin) เป็นต้น ดังนั้นต้องกินยาเหล่านี้ให้ห่างจากการดื่มนมอย่างน้อย 2 ชั่วโมง 

  2. นมอาจทำให้ระบบเคลือบป้องกันยาบางชนิดถูกทำลายก่อนเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือ ยาบางชนิดถูกทำลายในสภาวะที่เป็นกรดจึงถูกเคลือบด้วยสารพิเศษที่ไม่ให้ละลายในกรด แต่ให้ละลายในด่าง โดยสารเคลือบนี้สามารถละลายในลำไส้ซึ่งมีในสภาพเป็นด่าง และทำให้เกิดการปลดปล่อยตัวยาออกมาได้ที่ลำไส้เล็ก   หากกินยานี้พร้อมนมซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างจะทำให้สารที่เคลือบยาไว้ละลายออกและปล่อยตัวยาออกมาก่อนในกระเพาะทำให้ยาถูกทำลายได้ ตัวอย่างยารูปแบบนี้ เช่น ยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะชื่อโอมิพราโซล (omeprazole)  ดังนั้นต้องกินยาที่เคลือบแบบนี้ให้ห่างจากการดื่มนมอย่างน้อย 2 ชั่วโมง 


นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินอาหารทางปากได้ และได้รับอาหารทางสายยางทางจมูก หรือได้รับอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหารหรือลำไส้โดยตรง ก็ต้องระวังเช่นกัน  เพราะอาหารปั่นหรืออาหารทางการแพทย์ที่ให้ทางสายเหล่านี้อาจมีนมเป็นส่วนประกอบ และทำให้เกิดปัญหากับยาบางชนิดได้


ดังนั้น หลังจากกินยา หากท่านต้องการดื่มน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรือนมแทนน้ำ ควรสอบถามเภสัชกรให้แน่ใจก่อนว่าเครื่องดื่มเหล่านี้ไม่มีผลต่อยาที่ท่านจะกิน หากไม่แน่ใจให้ดื่มน้ำเปล่าจะเหมาะสมที่สุด


บทความโดย :  รศ.ดร.ภญ.โพยม วงศ์ภูวรักษ์
                        ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
   








บรรณานุกรม



  1. สุชาดา ชุติมาวรพันธุ์, โพยม วงศ์ภูวรักษ์, อภิฤดีเหมะจุฑา. คู่มือทักษะเกณฑ์ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (พ.ศ.2550),  สภาเภสัชกรรม. 

  2. Lacy CF, Armstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information Handbook: A Comprehensive Resource for All Clinicians and Healthcare Professionals. Ohio: Lexi Comp Inc;2008.

  3. Royal Pharmaceutical Society of Great Britain. British National Formulary 56, London: Pharmaceutical Press;2008.



: กาย
:
: สุขภาพดี
: การดื่มนม นม ยา

Share |
Payom 16 ก.ค. 2552 16 ก.ค. 2552
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย