แม่ควรรับประทานอาหารอย่างไร
นมแม่มีสารอาหาร วิตามินและเกลือแร่ครบถ้วน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ได้มาจากอาหารที่แม่รับประทานเข้าไป ดังนั้นผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร จึงควรรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ดังนี้
- ข้าว แป้งหรือขนมที่ทำจากแป้ง ทำให้ได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น
- อาหารที่มีไขมัน อาจเป็นไขมันจากพืชหรือสัตว์ ทำให้ได้รับพลังงานและกรดไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกายและต่อลูก
- อาหารทะเลโดยเฉพาะปลาทะเล ทำให้ได้รับกรดไขมันปลา ซึ่งจะช่วยบำรุงสมองและสายตาลูก ให้มีการพัฒนารวดเร็วกว่าเด็กทั่วไป
- เนื้อสัตว์ และถั่ว จะทำให้ร่างกายได้รับโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ต่างๆ หลายชนิด
- นมวัว เพื่อชดเชยน้ำนมที่สูญเสียไปจากการที่ลูกดูด ซึ่งแม่ควรดื่มนมวัวอย่างน้อยวันละ 2 ถ้วย หรือประมาณ 5000 มิลลิลิตร หรือประมาณ 2 กล่อง และสามารถเพิ่มเป็นวันละ 4 ถ้วยหรือ 4 กล่อง หากกลัวว่าน้ำหนักจะเพิ่มเกินไป ควรดื่มนมชนิดพร่องมันเนย
- ผักใบเขียวชนิดต่างๆ ทำให้ได้รับวิตามินเอและใยอาหาร รวมทั้งช่วยระบบขับถ่ายของคุณแม่ให้เป็นปกติ
- ผลไม้ ควรรับประทานผลไม้สดทุกวัน โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม สับปะรด จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินซี และใยอาหาร
- น้ำ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อชดเชยการสูญเสียที่ใช้ในการสร้างน้ำนม
อาหารที่รับประทานควรเป็นอาหารสด ไม่ควรหมัก ดอง หรือตากแห้ง เพราะคุณค่าของอาหารจะลดลงไปมาก โดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี นอกจากนี้ แม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภท ต่อไปนี้
- เหล้า หรือแอลกอฮอล์ ยาบางชนิดมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น ยาบำรุงเลือดหรือยาดองเหล้า เพื่อขับเลือดหลังคลอดบุตร ซึ่งแม่ไม่ควรทาน เพราะแอลกอฮอล์ในยาจะเข้าสู่น้ำนมแม่ เมื่อลูกดื่มเข้าไป จะมีผลต่อการทำงานของตับ ทำให้เลือดออกง่าย เด็กบางคนเมื่ออายุ 1 เดือน อาจจะมีเลือดออกในสมอง
- ไม่ควรรับประทานอาหารตากแห้ง เพราะจะทำให้ร่างกายของแม่ขาดวิตามินบี 1 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหน็บชา รวมทั้งมีผลให้น้ำนมแม่ขาดวิตามินบี 1 เช่นกัน เมื่อลูกดื่มนมแม่เข้าไป มีผลให้ลูกเป็นโรคเหน็บชา แต่จะรุนแรงกว่า เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานล้มเหลว เกิดอาการหัวใจวายและอาจจะเสียชีวิตหากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกวิธี
ข้อมูลจาก งานโภชนาการ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์