อาหาร มีความสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงหรือต่ำได้ เพราะอาหารที่เรากินเข้าไป เช่น ข้าว ขนมปัง แป้ง จะถูกย่อยเป็นน้ำตาลในร่างกาย ฉะนั้น หากเราไม่ควบคุม ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากเรากินน้อยเกินก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ เราจึงต้องกินอาหารให้เหมาะสมตามความต้องการของร่างกายเพื่อสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงมากที่สุด
ข้อปฏิบัติในการเลือกรับประทานอาหารสำหรับโรคเบาหวาน
- อาหารที่ไม่ควรรับประทาน
- ขนมหวานทุกประเภท เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ขนมชั้น หม้อแกง ของเชื่อม วุ้น เค้กต่างๆ ฯลฯ
- ผลไม้รสหวานจัด เช่น เงาะ องุ่น ทุเรียน ขนุน ละมุด น้อยหน่า อ้อย ฯลฯ
- น้ำตาลทุกประเภท เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลก้อน น้ำผึ้ง ฯลฯ
- เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ ฯลฯ
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผลไม้กระป๋อง ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้ดอง
- อาหารที่รับประทานได้แต่ต้องจำกัดจำนวน
- ผลไม้ต่างๆ เช่น สับปะรด แตงโม กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ส้มเขียวหวาน แก้วมังกร แอบเปิ้ล ไม่ควรเกิน 100 กรัมต่อวัน
- ธัญพืช ข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ วุ้นเส้น มันฝรั่ง ขนมจีน เผือก มัน ขนมปังปอนด์ ข้าวโพด ขนมปังกรอบแบบจืด ฯลฯ
- ผักประเภทหัว จะมีปริมาณแป้งและน้ำตาลมาก เช่น ฟักทอง แครอท สะเดา หอมใหญ่ ถั่วแขก ใบขี้เหล็ก ลูกเนียง ฯลฯ
- เนื้อสัตว์ สามารถกินได้ทุกชนิด แต่ควรหลีกเลี่ยง เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้น หนังไก่ แฮม ไส้กรอก เบคอน ปลาดุก ปลาสวาย ปลาซาบะ
- น้ำนม ควรรับประทานนมพร่องไขมัน รสจืดเท่านั้น
- ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง และควรงด ถั่วลิสง เพราะมีไขมันสูง
- ไขมัน เป็นส่วนที่ให้พลังงานมากที่สุด ควรรับประทาน ไม่เกิน 1-2 ช้อนโต๊ะ และควรเป็นไขมันจากพืช ยกเว้น กะทิ
อาหารที่รับประทานได้โดยไม่จำกัดจำนวน
- ผักประเภทใบต่างๆ มีปริมาณแป้งและน้ำตาลน้อย เช่น คะน้า ตำลึง บวบ ฟักเขียว ผักบุ้ง กะหล่ำปลี กวางตุ้ง แตงกวา ผักกาดหอม ผักโขม มะเขือเทศต่างๆ เป็นต้น ปัจจุบันอาหารมักเน้นให้มีการกินปริมาณใยอาหารมากขึ้น จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและโคเลสเตอรอล ลดลงได้
- เครื่องปรุงรส เช่น พริกไทย เครื่องเทศ น้ำส้ม น้ำซุปใส วุ้นไม่ใส่น้ำตาล ชา กาแฟไม่ใส่น้ำตาลและนมข้นหวาน ข่า ตะไคร้ พริก กระเทียม ฯลฯ
อ้างอิง : เทพ หิมะทองคำ. โรคเบาหวานภัยเงียบของสังคมไทย. ว.โภชนาการ 2545; 37 (2):28-32. คำจำกัดความใหม่ของ Metabolic syndrome. Cerebos Nutrition Update 2548; 7 (39): 3.
ที่มา:งานโภชนาการ
คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลสงขลานคริทร์