อ่าน: 65

ความดันโลหิตสูงคุมได้ด้วยอาหาร

สาเหตุการเกิดโรค

  1. ส่วนมากมักพบได้ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 40 – 50 ปีขึ้นไป
  2. พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวันหมดประจำเดือนพบได้บ่อย
  3. พบมากในคนอ้วน แต่ในคนผอมก็พบบ้างเหมือนกัน
  4. อาจเนื่องจากกรรมพันธุ์ประมาณ 30-40%
  5. บุคคลที่มีอารมณ์รุนแรง เคร่งเครียด ตื่นเต้น ตกใจง่าย ดีใจ เสียใจ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอาจจะกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราวในตอนแรก แล้วจะค่อยลดลง แต่ถ้าเกิดป่วยและนานเข้า ความดันโลหิตก็จะสูงอย่างถาวร ซึ่งถ้าสูงมากก็เป็นอันตรายได้

ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องโรคความดันโลหิตสูง มักจะถูกแพทย์สั่งให้รับประทานอาหารจำกัดเกลือ และอาหารไทยเป็นอาหารที่รสออกเค็ม ทั้งในด้านการปรุง และการถนอมอาหาร การจำกัดเกลือทำให้อาหารมีรสจืดชืดมาก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการขาดอาหารได้ ถ้าต้องจำกัดอยู่นาน เพราะฉะนั้นการปรุงอาหาร ควรใช้เครื่องปรุงชนิดอื่นเข้าช่วย เช่น น้ำตาล, น้ำส้ม, น้ำมะนาว, น้ำมะขาม, เครื่องเทศ พืชบางอย่างเป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนและอันตรายจากความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่เรื้อรัง รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ จะทำให้หลอดเลือดแดงตีบแข็ง การไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายกับอวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่

  • สมอง เมื่อความดันโลหิตสูงมาก อาจจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบตัน หรือแตกได้ง่ายกว่าคนปกติ
  • หัวใจ ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หัวใจต้องทำงานหนัก อาจทำให้หัวใจวายได้
  • ไต ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง การทำหน้าที่ของไตจะค่อยๆ เสื่อมลง ส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
  • ตา ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้าๆ ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆ จนอาจทำให้ตาบอดได้

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
นอกจากการจำกัดเกลือแล้ว ในการประกอบอาหารทุกชนิด ผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้

  1. ของแห้ง ของเค็ม และรมควัน เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง หมูแฮม เบคอน ไส้กรอก ฯลฯ เพราะเกลือทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดโลหิตแดงเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น
  2. ซุปก้อน หรือซุปซอง อาหารซองสำเร็จรูปทุกชนิด
  3. อาหารหมักดองทุกชนิด รวมทั้งน้ำผลไม้กระป๋องด้วย
  4. สารเคมีบางชนิดที่ใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ผงชูรส, ผงฟู, โซดาทำขนมซึ่งจะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก
  5. อาหารที่ผสมเกลือ เช่น ถั่วอบเนย ถั่วทอด มันทอด ข้าวโพดคั่ว ฯลฯ
  6. เนยหรือมาการีนที่ผสมเกลือ ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ และ กะทิรวมถึงการประกอบอาหารที่ใช้น้ำมันมาก ๆ
  7. น้ำ และเครื่องดื่ม เกลือแร่ ที่มีโซเดียมผสมอยู่ด้วย
  8. อาหารหวานจัด เช่น ขนมหวานทุกชนิด พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพราะจะทำให้น้ำหนักตัว และระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น
  9. เครื่องดื่มต่างๆ เช่น ชา กาแฟ ซึ่งมีสารคาเฟอีนสูงกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น สูบฉีดโลหิตแรงขึ้น เป็นอันตรายสำหรับผู้มีความดันโลหิตสูง
  10. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนของโลหิตเร็วและแรงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนัก และแรงดันโลหิตจะพุ่งสูงขึ้น นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ควรงดเด็ดขาด และงดสูบบุหรี่

อ้างอิง :

พงศ์อมร บุนนาค .Metabolic Syndrome ในผู้ใหญ่. ใน. การประชุมวิชาการโภชนาการประจำปี 2548 เรื่องการเผชิญความท้าทายด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี ; 19-21 ธันวาคม 2548.หน้า199-201.

ที่มา:งานโภชนาการ
คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลสงขลานคริทร์

: กาย
: บทความสุขภาพ
: สุขภาพดี

Share |
พรรณภัทร 04 มิ.ย. 2553 06 มิ.ย. 2553
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย