เพราะสมองสั่งให้เราโหยหาอาหารประเภทที่มีแคลอรีสูง ๆ เมื่อเราไม่รับประทานอาหารมื้อเช้านั่นเอง WebMD รายงาน
อาหารมื้อเช้า คือมื้อสำคัญ ที่สามารถกระตุ้นการทำงานของสมอง ให้เราต้องการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง หากเราขาดมื้อนี้ไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่จะทำให้น้ำหนักของเราเพิ่มขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญใช้เครื่อง MRI (Magnetic Resonance Imaging หรือเครื่องตรวจร่างกาย โดยการสร้างภาพเหมือนจริง ของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ –ผู้เขียน) เพื่อตรวจสอบการทำงานของสมอง โดยทำการศึกษาอาสาสมัคร 20 คน ที่มีร่างกายสมส่วน ไม่อ้วนลงพุง ให้งดรับประทานอาหารเช้า แล้วเข้าเครื่องสแกน MRI ซึ่งในระหว่างนั้นผู้เชี่ยวชาญจะให้อาสาสมัครมองภาพอาหารที่มีแคลอรีสูง เช่น พิซซ่า เค้ก ชอกโกแลต และอาหารที่มีแคลอรีต่ำ เช่น ผัก ปลา และสลัด
พบว่า สมองตื่นตัวอย่างมากต่อภาพอาหารที่มีแคลอรีสูง และต่อต้านอาหารที่มีแคลอรีต่ำ (แน่นอนว่าการได้ชิมและการได้กลิ่น ย่อมกระตุ้นการทำงานของสมองได้มากกว่า)
อย่างไรก็ตาม เมื่อทดลองให้อาสาสมัครรับประทานอาหารเช้า และเข้าเครื่องสแกน MRI หลังจากรับประทานไปแล้ว 90 นาที พบว่าการทำงานของสมองไม่ได้ส่งผลทางนัยยะสำคัญใด ๆ จากการกระตุ้นด้วยรูปภาพอาหารที่มีแคลอรีสูง
การศึกษานี้ สามารถสนับสนุนแนวคิดที่ว่า การรับประทานอาหารเช้าเป็นส่วนหนึ่งของการลดน้ำหนักได้ และยังเป็นการรักษาอาการอ้วนลงพุงอีกด้วย
ภาพจาก Flickr.com