อ่าน: 313

ออกกำลังแบบไหน ดีกับโรคอะไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า การออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำดีกับชีวิตของเรา ทีนี้เป็นโรคอะไรจะออกกำลังแบบไหนดีมากเป็นพิเศษ

คำตอบจากการศึกษาเป็นแบบนี้ครับ MailOnline


  1. ลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome)
    • โรคนี้อาจทำให้ท้องอืด แน่นท้อง ปวดท้อง แถมมีท้องผูกหรือท้องเสียแจมด้วยในคนไข้บางคน ตรวจโน่นนี่สารพัดก็ไม่เจอว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร
    • คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริทิช โคลัมเบีย แวนคูเวอร์ แคนาดาทำการศึกษาโดยให้คนไข้นำ DVD สอนโยคะไปฝึกที่บ้าน ผลการศึกษาพบว่า โยคะ 4 ชั่วโมง/สัปดาห์ช่วยให้อาการดีขึ้นได้
    • การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร (UK) พบว่า การฝึกโยคะ 30 นาที/ครั้ง x 5 ครั้ง/สัปดาห์ก็ได้ผลดีเช่นกัน
  2. ปวดหลัง
    • การศึกษาจากสหราชอาณาจักร (UK) พบว่า เทคนิคอเล็กซานเดอร์ลดปวดหลังได้ 42%
    • เทคนิคนี้เน้นการฝึกใช้ท่าทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะท่ายืน-เดิน-นั่งให้ตัวเกือบตรง กายบริหาร นวดบำบัดร่วมกัน และมีคอร์สฝึกอบรมเป็นหลักสูตรมาตรฐาน (แพงด้วย)
    • การออกกำลังที่คล้ายกันมาก คือ พิลาทิส (pilates) ซึ่งมี DVD จำหน่ายเป็นภาษาไทยแล้ว
  3. เหงือกอักเสบ-ปริทนต์อักเสบ
    • การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเซิร์ฟ สหรัฐฯ พบว่า "เหงือกดีเริ่มต้นที่เท้า (ตีน)" คือ การออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดิน วิ่ง ขึ้นลงบันได เดินขึ้นลงเนิน จักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ นาน 45-60 นาที/ครั้ง ลดเสี่ยงเหงือกอักเสบ-ปริทนต์อักเสบได้ 40%
    • ขนาดที่ใช้คือ ออกกำลังแรงปานกลาง เช่น เดินเร็ว ฯลฯ 5 ครั้ง/สัปดาห์ หรือออกกำลังอย่างหนัก เช่น วิ่งค่อนข้างเร็ว เดินขึ้นลงบันได ฯลฯ 3 ครั้ง/สัปดาห์
  4. ความดันเลือดสูง
    • ทีมนักสรีรวิทยาจากสถาบันโอเรกอน รีเซิร์ชทำการศึกษาพบว่า การเดินเท้าเปล่าบนก้อนหินที่ไม่คม (cobblestone-walking) ช่วยลดความดันเลือด
    • กลไกที่อาจเป็นไปได้ตามหลักแพทย์แผนจีน คือ การกระตุ้นฝ่าเท้าช่วยให้กระแสพลังไหลเวียนดี โดยทำหน้าที่คล้ายการฝังเข็ม หรือกดจุดที่เท้า
    • ขนาดที่ใช้คือ 60 นาที/ครั้ง x 3 ครั้ง/สัปดาห์
    • สมาคมโรคหัวใจอเมริกาทำการศึกษาพบว่า การฝึกไทเกก-ไทชิ ช่วยลดความดันเลือดในคนสูงอายุได้เกือบเท่าการออกกำลังแรงปานกลาง
  5. กระดูกโปร่งบางหรือกระดูกพรุน (osteoporosis)
    • การศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐฯ พบว่า การออกกำลังที่มีการลงน้ำหนัก เช่น วิ่ง ฯลฯ และการออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ฯลฯ ช่วยให้กระดูกแข็งแรง
    • กลไกที่เป็นไปได้คือ การลงน้ำหนักหรือออกแรงกระแทกต่อกระดูก ทำให้กระดูกบาดเจ็บ ร่างกายจะทำการซ่อมแซมใหม่แบบ "ให้แข็งแรงกว่าเก่า" ทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น
    • ส่วนการออกกำลังต้านแรงจะทำให้มวลกล้ามเนื้อมากขึ้น แรงตึงกล้ามเนื้อมากขึ้น แรงกดนี้ทำให้แคลเซียมจับกระดูกได้ดีขึ้นเช่นกัน
    • ถ้าออกกำลัง 2 รูปแบบนี้ร่วมกัน จะได้ผลดีมากในการป้องกันโรค
  6. ซึมเศร้า
    • การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอสเซกส์ สหราชอาณาจักร (UK) พบว่า การเดินวันละ 60 นาทีช่วยได้
    • การศึกษาจากสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้นพบว่า การเดินเร็วมากๆ (brisk walk) (30 นาที/ครั้ง x 3 ครั้ง/สัปดาห์) ช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้มากกว่าการใช้ยา แถมยังมีการกลับเป็นโรคซ้ำ ต่ำกว่าด้วย
    • แนะนำให้เดินเร็วพื้นฐาน (อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง x 3 ครั้ง/สัปดาห์) + เดินเร็วมาก ๆ 5-10 นาทีเสริมทุกครั้งที่รู้สึกหดหู่หรือซึมเศร้า
  7. เบาหวาน
    • การศึกษาจากสมาคมกายภาพบำบัดอเมริกาพบว่า การออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก (ต้องออกกำลังให้ครบทุกส่วน ไม่ใช่ออกกำลังเฉพาะไหล่กับแขน) ฯลฯ ให้ผลในด้านการลดไขมันรอบเอวได้ดีกว่าการออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดินเร็ว ฯลฯ
    • กลไกที่เป็นไปได้ คือ มวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มจากการออกกำลังต้านแรง (ต้องออกกำลัง + อาหารพอประมาณ + นอนให้พอ 6 สัปดาห์ขึ้นไป มวลกล้ามเนื้อจึงจะเพิ่มขึ้น) ช่วยดูดซับน้ำตาลในเลือด
    • คนที่ไม่ออกกำลังต้านแรงเลย... จะมีมวลกล้ามเนื้อลดลงไปเรื่อย ๆ หลังอายุ 20-25 ปี ทำให้ไม่มีอะไรช่วยดูดซับน้ำตาลในเลือดมากพอ
    • การออกกำลังบางอย่าง เช่น เดิน เดินเร็ว ฯลฯ มีลักษณะเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิคหรือคาร์ดิโอ (เน้นหัวใจ-ระบบไหลเวียนเลือด) อย่างเดียว
    • การออกกำลังบางอย่าง เช่น เดินนอร์ดิค (ขึ้นลงเนิน โดยใช้ไม้เท้าสกีช่วยดัน) เดินขึ้นลงเนิน เดินขึ้นลงบันได ฯลฯ มีลักษณะเป็นทั้งการออกกำลังแบบแอโรบิคหรือคาร์ดิโอ + ออกกำลังต้านแรงแบบ '2-in-1' คล้ายแชมพูผสมครีมนวดผม
    • การออกกำลังที่มีแนวโน้มจะดีที่สุด คือ ผสมผสานทั้งการออกกำลังต้านแรง และแอโรบิคเข้าด้วยกัน เช่น เดินขึ้นลงบันได หรือเดินขึ้นลงเนิน (ใช้ไม้เท้าสกีแบบเดินนอร์ดิคช่วยยิ่งดี) + ยกน้ำหนัก สลับกับเดินเร็ว ฯลฯ
  8. ปวดหัว
    • การออกกำลังแบบแอโรบิคหรือคาร์ดิโอ (เน้นหัวใจ-ระบบไหลเวียนเลือด) เช่น ขี่จักรยานเร็วมาก เดินเร็วมาก วิ่งค่อนข้างเร็ว เดินขึ้นลงบันไดหรือขึ้นลงเนิน ฯลฯ ลดความถี่ของอาการปวดได้ 90%
    • การศึกษาจากสวีเดนพบว่า คนที่นั่ง ๆ นอน ๆ และไม่ออกแรง-ออกกำลังมากพอ เสี่ยงปวดหัวมากขึ้น 14%
    • การศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียพบว่า โยคะช่วยลดอาการปวดหัวจากกล้ามเนื้อบริเวณคอตึงตัว (tension headache) ได้ 75%

การออกแรง-ออกกำลังเพื่อสุขภาพมีลักษณะคล้ายอาหาร คือ การออกแรง-ออกกำลังหลายรูปแบบผสมผสาน หรือสลับกัน มีแนวโน้มจะดีกับสุขภาพมากกว่ารูปแบบเดียว การออกกำลังที่คนส่วนใหญ่ทำได้ง่าย คือ การเดินเร็วปานกลางสลับเดินเร็วมาก ๆ หรือเดินเร็วปานกลางสลับเดินขึ้นลงบันได

ภาพจาก Flickr.com

: กาย
: ข่าว
: สุขภาพดี
วัลลภ 16 มิ.ย. 2552 16 มิ.ย. 2552
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
ความคิดเห็น
captcha
 
หรือ ยกเลิก

เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย