ปัญหาไตเสื่อมนั้นมาจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากอาการไตอักเสบ หรือการเป็นนิ่วในไต ที่ทำให้ไตมีการเสื่อมลง ปัจจัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมได้ เช่น การได้รับสารพิษ การกินอาหารเค็มจัด หรือการได้รับอาหารประเภทโปรตีนมากเกินไป เป็นระยะเวลานาน จนทำให้ไตทำงานหนักติดต่อกันตลอดเพื่อขับของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย นอกจากนี้อาจมีสาเหตุมาจากจากโรคอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคไตแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง และถึงแม้ว่าไตเรื้อรังจะรักษาไม่หาย แต่สามารถป้องกันได้หรือชะลอดไม่ให้เนื้อที่ไตที่เหลืออยู่เสื่อมสภาพลงไปอีกได้ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าผู้ป่วยโรคไตบางคนละเลยการรักษาจนทำให้ไตวายอย่างรวดเร็วจนเสียชีวิต
รู้จักช่วยกันป้องกันไม่ให้ไตเสียมากขึ้น
การกินอาหารให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ไตที่เหลืออยู่มีความสามารถในการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการชะลอไม่ให้เนื้อไตถูกทำลายมากขึ้นจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย
อาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์และถั่วต่างๆ เป็นกลุ่มอาหารที่คนเป็นโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการรักษาโดยการฟอกเลือดต้องกิน ลดลง เพราะเมื่อกินโปรตีนเข้าไปแล้ว ร่างกายจะเผลาผลาญให้เป็นหน่วยย่อยๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์แล้วจะเหลือสารประกอบสุดท้ายที่เป็นของเสีย จำพวกยูเรีย ครีอะตินีน ที่เป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องขับออกโดยไต การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนจึงทำให้ไตต้องทำงานหนักและเกิดการเสื่อมสภาพมากขึ้นได้ง่าย
โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรรับประทานโปรตีนประมาณ 3 ใน 4 ของคนปกติ เช่น ถ้าปกติรับประทานเนื้อสัตว์วันละ 8-10 ช้อนโต๊ะ เมื่อเป็นโรคไตเรื้อรังต้องรับประทานลดลงเหลือประมาณ 6-7 ช้อนโต๊ะ หรืออาจจะต้องน้อยกว่านี้ถ้าไตมีการเสื่อมสภาพมากขึ้น การไปพบแพทย์และเจาะเลือดตรวจเป็นระยะๆ จะเป็นตัวช่วยบอกว่าควรจะรับประทานอาหารโปรตีนมากหรือน้อยเพียงใด นอกจากโปรตีนแล้วคนเป็นโรคไตเรื้อรังต้องระวังไม่กินอาหารที่มีโซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง
อาหารที่มีโพแทสเซียมสูงที่ควรระวัง ได้แก่
- ถั่วเมล็ดแห้ง โดยเฉพาะถั่วดำและถั่วปากอ้า
- ผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลืองเข้ม เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ ดอกกะหล่ำ ใบคะน้า ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ แครอท (ผักที่มีโพแทสเซียมสูงไม่มากและรับประทานได้ เช่น แตงกวา น้ำเต้า บวบ ฟักเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว ผักกาด)
- ผลไม้โดยเฉพาะผลไม้ที่มีสีเหลือง เช่น ส้ม กล้วย ทุเรียน มะม่วงสุก ขนุน มะขามหวานและผลไม้แห้งทุกชนิด เช่น ลูกเกด ลูกพรุน
อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ที่ควรระวัง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่แดง นมสด เนยแข็ง เมล็ดพืช ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วแดง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น
อาหารที่มีโซเดียมสูง ที่ควรระวัง ได้แก่ อาหารที่มีรสเค็มจากการใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม น้ำบูดู ซุปก้อน ผงปรุงรสต่างๆ
อย่างไรก็ตามผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด และหากเจ็บป่วยไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลเสียต่อไตโดยตรงทำให้ไตเสื่อมยิ่งขึ้น
ที่มา
งานโภชนาการ
คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลสงขลานคริทร์