ค้นหาโรคและความเจ็บป่วย / อาการ
อ่าน: 2581
หัด (Measles)
โรคหัด (Measles/Rubeola) พบมากในเด็กอายุ 2-14 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6-8 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิต้านทานที่ได้รับจากแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เป็นโรคที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว มักจะพบในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แต่ก็อาจพบได้ประปรายตลอดปี นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้
อาการเริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ แพ้แสงแดด หนังตาบวม และจะมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งเหมือนท้องเดิน อาการต่างๆ จะเป็นมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น 38.5-40.5 องศาเซลเซียส บางรายอาจสูงกว่านั้น ไข้มีลักษณะสูงตลอดเวลา กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด และจะสูงเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้มด้านใน หรือบริเวณใกล้ฟันกรามล่าง หรือ ฟันกรามด้านบนสองซี่สุดท้าย เรียกว่าจุดค็อปลิก Koplik’s spots ซึ่งจะช่วยให้วินิจฉัยโรคหัดได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น ลักษณะผื่นนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นที่ระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง ซึ่งคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมดกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางรายจะเหลือให้เห็นเป็นรอยสีน้ำตาล บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุยอาการจะรุนแรงในเด็กทารกและผู้ใหญ่มากกว่าในเด็กทั่วไป
โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งอยู่ในตระกูล Paramyxovirus ซึ่งเป็น RNA ไวรัส ที่จะพบได้ในจมูก ลำคอ และในน้ำลายของผู้ป่วย
โรคหัดติดต่อกันได้ง่ายมาก ติดต่อทางตรงจากการหายใจเอาละอองของเชื้อโรคที่มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ไอ จาม ของผู้ป่วย หรือติดต่อโดยทางอ้อมจากการใช้เครื่องใช้ต่างๆ ที่เปื้อนเชื้อของผู้ป่วย โรคหัด หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด โดยเชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศ เมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส (air borne) เข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเกือบทุกราย
ระยะของโรคนี้ แบ่งเป็น
ระยะฟักตัวของโรค หลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 10 วัน (ระหว่าง7-18 วัน) จึงจะเริ่มมีอาการไข้ ถ้านับจากวันได้รับเชื้อจนกระทั่งผื่นขึ้นจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน
ระยะติดต่อของโรค : เริ่มติดต่อตั้งแต่มีอาการไข้ไปจนถึง 4 วันหลังจากที่ผื่นเกิดขึ้น หลังจากผื่นขึ้นได้ 2 วัน โอกาสการติดต่อไปยังผู้อื่นจะน้อยลง และไม่พบว่าไวรัสที่อยู่ในวัคซีนจะทำให้ติดต่อแพร่โรคได้
ในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหัดหรือผู้ที่ไม่มีระดับภูมิคุ้มกันของ โรคหัดไม่เพียงพอ จะเสี่ยงต่อการติดโรคทุกคน เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้ตลอดชีวิต ทารกที่คลอดจากมารดาที่เคยป่วยเป็นหัดมาก่อน จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ได้นานประมาณ 6 – 9 เดือน ขึ้นกับระดับภูมิคุ้มกันของแม่ที่ผ่านมายังทารกในขณะตั้งครรภ์ ถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรค เด็กมีโอกาสจะเป็นหัดได้เมื่อภูมิคุ้มกันที่ผ่านมาจากแม่หมดไปเมื่ออายุประมาณ 6-9 เดือน อายุที่พบบ่อยคือ 1-6 ปี ถ้าไม่มีภูมิต้านทานจะเป็นโรคได้ทุกอายุ
สำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคหัดแล้วร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันทำให้ไม่กลับมาป่วยเป็นโรคหัดอีก
การวินิจฉัยโรคนี้ ดูจากอาการทางคลินิก ลักษณะการเกิดผื่นในวันที่ 4 และการแพร่กระจายของผื่นจากหน้าไปยังแขนขา การมีจุดค็อปลิก Koplik’s spots แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโรคหัด โดยการเจาะเลือดตรวจในระยะที่มีผื่น และครั้งที่สองห่างไป 2-4 สัปดาห์ หรืออาจตรวจด้วยการแยกเชื้อไวรัสจากคอ ตา หรือจากปัสสาวะ ในระยะที่มีไข้จะสามารถยืนยันได้ว่าเป็นโรคหัด แต่การแยกเชื้อทำได้ยาก จึงไม่นิยมทำกัน
โรคแทรกซ้อนพบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะขาดสารอาหาร และในเด็กเล็ก ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย มีดังนี้
ทางระบบทางเดินหายใจ
หูส่วนกลางอักเสบ
หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ
ปอดอักเสบ
ทางระบบทางเดินอาหาร พบอุจจาระร่วง ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะขาดสารอาหาร โรคลำไส้ที่ทำให้สูญเสียโปรตีน
สมองอักเสบพบได้ประมาณ 1 ใน 1000 ราย ซึ่งจะทำให้มีความพิการเหลืออยู่ ถ้าไม่เสียชีวิต
ในเด็กที่มีภาวะขาดวิตามินเอ อาการจะรุนแรงและอาจทำให้มีตาบอด
อาการขาดน้ำ และการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ผิวหนัง
โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เอง พบภาวะแทรกซ้อนเป็นส่วนน้อย การรักษาประกอบด้วย
ให้การรักษาตามอาการ ถ้าไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว ให้ยาแก้ไอที่เป็นยาขับเสมหะได้เป็นครั้งคราว ยาลดไข้ควรเป็นยาพาราเซตตามอล ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกิดโรค Reye’s syndrome ได้
ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากรายที่มีโรคแทรกซ้อนเช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ
ให้อาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ให้วิตามินเสริมโดยเฉพาะวิตามินเอ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรให้วิตามินเอแก่เด็กที่เป็นหัดทุกรายในพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของการขาดวิตามินเอสูง โดยการให้วิตามินเอเสริมแก่เด็กที่เป็นหัดจะช่วยลดอัตราตายจากหัดลงได้
การปฏิบัติตัว : เหมือนไข้หวัด คือ
พักผ่อนมากๆ
ไม่อาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบตัวเมื่อมีไข้สูง
ดื่มน้ำและน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ให้มากๆ
ควรแยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดจนถึง 4 วัน หลังผื่นขึ้น
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย
ใช้ผ้าปิดปากหรือจมูกขณะไอหรือจาม ร่วมกับไม่ควรไปในที่ชุมขนเนื่องจากป้องกันการแพร่กระจายของโรค
การป้องกันโรค :
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยรับการฉีดวัคซีน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรืออายุ 4-6 ปี ) โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ขอรับการฉีดได้ที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลทั่วไป
สำหรับผู้ที่สัมผัสโรคภายในระยะ 72 ชั่วโมง อาจพิจารณาให้วัคซีนหัดทันที ซึ่งจะป้องกันการเกิดโรคได้
ถ้าสัมผัสโรคนานเกิน 72 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 วัน ให้ Immune globulin (IG) เพื่อป้องกันหรือทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง ผู้ที่ควรพิจารณาให้ IG ได้แก่เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หญิงมีครรภ์ และเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งคนเหล่านั้นถ้าเป็นหัดแล้วจะมีภาวะแทรกซ้อนสูง
ยาที่ใช้บ่อย
Paracetamol ,
WWW .mayoclinic.com
Measles: Q&A about disease and vaccine. Centers for Disease Control and Prevention. http://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/measles/faqs-dis-vac-risks.htm. Accessed March 24, 2009.
Brunell PA. Measles (rubeola virus infection). In: Goldman L, et al. Cecil Medicine. 23rd l’ed. Philadelphia, Pa.: Saunders Elsevier; 2007. http://www.mdconsult.com/das/book/body/127725136-3/820414473/1492/1315.html#4-u1.0-B978-1-4160-2805-5..50395-5_16443. Accessed March 24, 2009.
Fact sheet: Measles. World Health Organization. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs286/en/index.html. Accessed March 24, 2009.
ประยงค์ เวชวนิชสนอง และ วนพร อนันตเสรี. กุมารเวชศาสจร์ทั่วไป. สงขลา : ชานเมืองการพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่1. 2550; 121-132.
ร่วมเขียนโดย นายแพทย์ปัญญา จำรูญเกียรติกุล,นายแพทย์ธีรภาพ ลิ่วลักษณ์
เขียนเมื่อ 04 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 31 มกราคม 2554