“การปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยกระดูกหักที่สำคัญที่สุด คือ การดามให้ปลายกระดูกหักอยู่นิ่ง”
กระดูกหัก เป็นภาวะหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีต่างๆการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องจะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นในระหว่างที่ต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย บทความต่อไปนี้จะช่วยให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะกระดูกหัก ตลอดจนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างง่ายที่สามารถปฏิบัติได้ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
กระดูกหักเกิดได้อย่างไร?
ส่วนประกอบในร่างกายของมนุษย์ที่มีความแข็งมากที่สุดคือ ฟัน รองลงมา คือ กระดูก ดังนั้นการเกิดการหักของกระดูกจะต้องเกิดการแรงกระทำที่รุนแรงพอสมควรอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทกโดยตรง และทำให้กระดูกหักที่พบได้บ่อย ได้แก่ อุบัติเหตุรถชน การตกจากที่สูงและการหกล้ม ในบางกรณีการดึงรั้งของกล้ามเนื้อและเอ็นก็จะทำให้กระดูกหักได้เช่นกัน เช่น ข้อเท้าแพลง จะทำให้กระดูกข้อเท้าหรือฝ่าเท้าหักได้
การหกล้มที่ไม่รุนแรงมากนัก จะทำให้กระดูกหักได้หรือไม่?
นอกจากความรุนแรงของแรงที่กระทำต่อกระดูกแล้ว ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเกิดกระดูกหัก ได้แก่ ความแข็งแรงของกระดูก ในคนสูงอายุมักจะมีภาวะกระดูกโปร่งบางทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย แม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงนัก ในกรณีผู้ป่วยที่กระดูกถูกทำลายจากโรคต่างๆ เช่น เนื้องอกของกระดูก หรือการอักเสบติดเชื้อของกระดูกจะทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงจึงเกิดกระดูกหักได้ง่ายเช่นกัน
คนสูงอายุที่มีกระดูกโปร่งบางจะพบกระดูกหักที่บริเวณใดบ้าง?
ผู้ที่มีกระดูกโปร่งบางมักจะมีตำแหน่งที่ง่ายต่อการเกิดกระดูกหัก ดังนี้
- การหกล้มมือค้ำพื้น จะทำให้เกิดการหักของกระดูกข้อมือและข้อไหล่
- การหกล้มตะโพกกระแทกพื้น จะทำให้เกิดการหักของกระดูกตะโพก
- การหกล้มก้นกระแทกพื้น จะทำให้เกิดกระดูกสันหลังหัก
จะเห็นว่าถ้าหากป้องกันมิให้ผู้สูงอายุหกล้ม ก็จะช่วยลดการเกิดกระดูกหักได้ เช่น พื้นห้องน้ำมักจะลื่น ง่ายต่อการหกล้ม จึงควรมีราวสำหรับยึดเหนี่ยว พื้นห้องน้ำควรจะแห้งอยู่เสมอ การติดแผ่นป้องกันลื่นบนพื้นห้องน้ำก็จะช่วยป้องกันการลื่นล้มได้ระดับหนึ่ง บริเวณที่เสี่ยงต่อการหกล้มควรจะมีแสงสว่างพอเพียง เช่น บริเวณบันไดและบริเวณพื้นต่างระดับ เป็นต้น
จะทราบได้อย่างไรว่ากระดูกหัก?
เมื่อได้รับอุบัติเหตุ อาการที่จะทำให้สงสัยว่ามีกระดูกหักคือ อาการปวดและจะใช้งานอวัยวะนั้นๆ ไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีกระดูกขา โคนขา หรือตะโพกหัก จะปวดบริเวณกระดูกหักมากและเดินไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีกระดูกแขน ต้นแขน หรือกระดูกบริเวณข้อไหล่หักจะปวดและยกแขนไม่ขึ้น ผู้ป่วยที่มีกระดูกข้อมือหักจะปวดมากถ้ามีการกระดกหรืองอข้อมือข้างนั้น ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักจะพยายามลดอาการปวดโดยการนอนนิ่งๆ ไม่สามารถลุกนั่งหรือยืนได้ การเอี้ยวตัวหรือพลิกตัวจะทำให้อาการปวดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้จะพบอาการบวมบริเวณที่กระดูกหักร่วมด้วย ถ้าอุบัติเหตุรุนแรงมาก ก็จะเห็นมีการโค้ง งอ ผิดรูปที่บริเวณกระดูกหัก บางครั้งผู้ป่วยเองจะรู้สึกว่ามีการเสียดสีของปลายกระดูกที่หัก ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ผู้ป่วยควรได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และส่งไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ทำอย่างไรเมื่อกระดูกหัก?
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยกระดูกหักที่สำคัญที่สุดคือ การดามให้ปลายกระดูกหักอยู่นิ่ง เพื่อมิให้ปลายกระดูกที่หักไปทิ่มแทงเป็นอันตรายต่ออวัยวะข้างเคียงขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และจะช่วยลดอาการปวดได้อย่างมาก นอกจากนี้การใช้น้ำเย็นประคบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บก็จะช่วยลดบวมได้ในระดับหนึ่ง หลังจากนั้นควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
การดามกระดูกหัก หากไม่มีการเตรียมล่วงหน้า ให้พยายามหาวัสดุเท่าที่หาได้ในบริเวณนั้นมาดัดแปลง เช่น ท่อนไม้ ไม้กระดาน ไม้บรรทัด กระดาษแข็ง หรือคันร่ม เป็นต้น นำวัสดุเหล่านี้วางทาบกับแขนหรือขาที่หักโดยมีหลักสำคัญว่าวัสดุที่ใช้ตามต้องยาวกว่ากระดูกชิ้นที่หัก หลังจากนั้นให้ใช้ผ้าพันแขนหรือขาที่หักให้แนบติดกับวัสดุที่ใช้ดาม ผ้าสามเหลี่ยมสำหรับคล้องแขน จะเป็นวัสดุที่ใช้สำหรับดามกระดูกต้นแขนหรือกระดูกบริเวณข้อไหล่หักได้เป็นอย่างดี
กรณีที่สงสัยว่ามีกระดูกสันหลังหัก การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้กระดูกกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท เกิดอัมพาตของแขนขาได้ ดังนั้นควรให้ผู้ป่วยนอนบนไม้กระดานแข็งๆ เช่น แผ่นไม้กระดาน หรือบานประตู ก่อนส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาต่อไป
ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีกระดูกหัก ควรได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องและรีบส่งไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องจากการถ่ายภาพรังสี การรักษากระดูกหักจะขึ้นกับลักษณะที่หักและตำแหน่งกระดูกที่หัก การล่าช้าในการรักษาอาจจะทำให้เกิดการพิการที่ไม่สามารถแก้ไขได้
ที่มา :ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เรื่องนี้มีประโยชน์มากๆ เลยครับ มีการอ้างอิงที่มาด้วย ซึ่งถ้ามีภาพประกอบหน่อย จะทำให้น่าอ่าน และเป็นคลังความรู้ของประเทศได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว...