อ่าน: 1919
Small_font Large_font

ฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยยาฆ่าเชื้อ

ยาฆ่าเชื้อคืออะไร
คุณรู้จักยาฆ่าเชื้อดีแค่ไหน ปัจจุบันยาฆ่าเชื้อมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะและยาแอนติไบโอติก ซึ่งที่จริงแล้วยาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย...คนส่วนใหญ่จึงเรียกว่า ยาฆ่าเชื้อ

ส่วนชื่อยาแก้อักเสบนั้น นิยมเรียกกันเนื่องจากเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายมาทำลายเชื้อในร่างกาย และทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อกินยาแก้อักเสบติดเชื้อหรือยาฆ่าเชื้อแล้วสามารถลดอาการอักเสบที่เกิดขึ้นได้...จึงเรียกว่า ยาแก้อักเสบ

ยาฆ่าเชื้อ มีหลายกลุ่มได้แก่ ยาเพนิซิลลิน เตตราซัยคลินซัลฟา คลอแรมเฟนิคอล เป็นต้น มักใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ แผลอักเสบ ท้องเสีย เป็นต้น ดังนั้นโรคหรืออาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือปรสิต จะใช้ยากลุ่มนี้รักษาไม่ได้

จริงๆแล้วยาแก้อักเสบในทางการแพทย์นั้น จะเป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแต่อย่างใด จะเป็นยาที่บรรเทาอาการปวด บวม ร้อนแดงเท่านั้น

เมื่อไหร่ถึงใช้ จำเป็นแค่ไหน

ยาแก้อักเสบติดเชื้อหรือยาปฏิชีวนะที่เรารู้จักกัน ไม่ได้ใช้ในทุกกรณีที่ร่างกายเกิดความเจ็บป่วยหรือมีบาดแผล หากการเจ็บป่วยนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเชื้อแบคทีเรียแล้ว การใช้ยาอาจทำให้ไม่ได้รับประโยชน์เลย หนำซ้ำยังเสี่ยงต่อการดื้อยาและการแพ้ยาอีกด้วย

เมื่อไหร่จึงจำเป็นต้องใช้ยา

จริงๆแล้วเชื้อก่อโรคมีมากมายเป็นร้อยเป็นพันชนิด ดังนั้นยาแก้อักเสบติดเชื้อก็มีมากมายด้วยเช่นกัน ซึ่งยาหนึ่งจะสามารถใช้ได้ผลกับเชื้อเพียงบางชนิดเท่านั้น...ดังนั้นวิธีการตัดสินใจที่ง่ายที่สุดว่าจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่ ควรไปพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกร จะทำให้ได้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม

ตัวอย่างอาการที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ

  • เป็นหวัด มีอาการจาม และน้ำมูกไหล เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย มีไข้ต่ำๆ เนื่องจากอาการเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัสและสามารหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ ไม่มีอาการปวดบิด เนื่องจากเป็นอาการที่สามารถหายได้เอง แต่ควรได้รับสารน้ำทดแทน เช่น ผงน้ำตาลเกลือแร่ ORS

ใช้อย่างไรให้ถูกต้องปลอดภัย

  • ควรทานยาให้ครบขนาดและตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ระดับยาสูงพอที่จะทำลายเชื้อโรคอย่างต่อเนื่องและป้องกันเชื้อโรคดื้อยา
  • เมื่อเกิดอาการที่สงสัยว่าเป็นการแพ้ยา ซึ่งได้แก่อาการมีผื่นคันขึ้นตามตัว หน้า ริมฝีปาก ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ให้หยุดยาและไปปรึกษาแพทย์ทันที และต้องจดชื่อยาไว้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาที่แพ้ซ้ำอีก
  • ไม่ควรใช้ยาฆ่าเชื้อร่วมกับผู้อื่นหรือยาของผู้อื่นเพราะอาจมีอาการเหมือนกันแต่เชื้อสาเหตุต่างกันได้
  • ไม่ควรใช้ยาที่สงสัยว่าเสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว เช่น เม็ดยาชื้น สีซีดจาง หรือแตกร้าว ในยาน้ำใสมีตะกอนเกิดขึ้น เป็นต้น
  • ยาบางอย่างมีข้อควรระวังพิเศษในการใช้ เช่น ทำให้คลื่นไส้อาเจียน มีผลต่อตับ ไตหรือมีปฏิกิริยากับยาอื่น ทำให้เกิดอันตรายรุนแรงได้ จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ถ้าแพ้ยาจะเป็นอย่างไร

การแพ้ยาจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนทานยาแล้วไม่แพ้ ไม่มีอาการอะไร แต่บางคนทานยาแล้วแค่เวลาไม่กี่นาทีก็เกิดอาการแพ้ยา และในบางคนทานยาไปแล้วหลายวัน จึงเริ่มมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าอาการผิดปกติที่พบใช่อาการแพ้หรือไม่

อาการแพ้ยาที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่น คัน ผิวหนังพุพอง เปื่อย ลอกทั้งตัว คล้ายถูกไฟลวก ปากมีแผล ตาอักเสบ

ส่วนอาการอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ แน่นหน้าอก หรือหายใจขัดคล้ายหืด เป็นลม ตัวเย็น ชีพจรเบาและเร็ว ความดันต่ำ และหยุดหายใจ ช็อค และตายได้

การแพ้ยาเป็นอะไรที่ไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้า แต่เมื่อเกิดการแพ้ยาแล้วเป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างมาก...ดังนั้นเมื่อเกิดอาการแพ้ยาต้องหยุดยาแล้วมาพบแพทย์ทันที

การเก็บยาสำคัญไฉน
แน่นอนว่าวิธีใช้ยาแล้วต้องรู้วิธีเก็บยาควบคู่กันไป หากเก็บยาไม่ถูกวิธี ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ แม้รู้ว่าต้องทานยายังไงให้ถูกวิธี การรักษาก็คงไม่มีประสิทธิภาพแล้ว เนื่องด้วยยาได้เสื่อมคุณภาพไปแล้ว...การเก็บยาสำคัญไฉน...แน่นอนว่าเก็บยาถูกวิธี ได้ยามีคุณภาพ ให้ผลการรักษาได้เต็มที่

หลักการเก็บยาที่ดี ได้แก่

  • ควรเก็บยาต่างๆไว้ในที่เย็นหรือยาบางชนิดควรเก็บในตู้เย็น ไม่โดนแสงแดดแรงๆ และไม่ควรเก็บยาในที่ชื้น
  • ยาที่บรรจุแบบเม็ดเดี่ยวๆในแผงฟอยด์ ก็ไม่ควรจะแกะออกมาทิ้งไว้นานๆ ควรแกะเมื่อจะทานยาเม็ดนั้นๆเลย
  • ยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งที่ต้องผสมน้ำก่อนใช้ เมื่อผสมน้ำแล้วควรเก็บในตู้เย็น จะสามารถเก็บยาไว้ได้ 7-14 วัน หลังจากนั้นประสิทธิภาพของยาจะลดลง จึงไม่ควรใช้ หากเก็บยาไว้นานเกิน 14 วัน
  • ควรเก็บยาในภาชนะปิดสนิทและเก็บให้พ้นมือเด็ก

นอกจากจะเก็บยาให้ถูกต้องแล้วก่อนทานยาต้องดูวันหมดอายุก่อนเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่ายายังคงมี
ประสิทธิภาพในการรักษาได้

ที่มา
สถานปฏิบัติการเภสัชชุมชน
คณะเภสัชสาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

: กาย
: บทความสุขภาพ
: สุขภาพ
: ยาฆ่าเชื้อ

พรรณภัทร 12 ก.พ. 2553 14 ก.พ. 2553
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย