ไมเกรน เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย พบได้ทุกวัย และพบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี โรคนี้มักเป็นๆหายๆ เรื้อรัง สร้างความรำคาญ ทรมาน และทำให้เสียงานได้
ปวดหัวอย่างไรถึงเป็นไมเกรน
- มีอาการนำมาก่อนที่จะปวด ประมาณ 15-20 นาที เช่น เห็นแสงวูบวาบเป็นสีเหลืองๆ ตามัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย บางรายมีอาการหงุดหงิด ง่วงนอนมาก หรือมีอาการทางจิต เช่น วิตกกังกล ซึมเศร้า แต่อาการเหล่านี้ไม่พบในทุกรายที่ปวดไมเกรน
- มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว (หรือ 2 ข้าง) บริเวณขมับหรือเบ้าตา บางคนอาจปวดท้ายทอยได้ มักปวดแบบตุบๆ และจะปวดในระดับกลางถึงมาก แต่ถ้าปวดพอรำคาญน้อยๆ โอกาสเป็นไมเกรนจะน้อย นอกจากนั้น อาการปวดแบบไมเกรนนั้น เมื่อหายปวดจะหายสนิท โดยในช่วงที่ปวดจะปวดนาน 2-4 ชั่วโมง หรือนาน 2-3 วัน
- มีอาการร่วมขณะปวดหัว ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน รู้สึกเย็นตามปลายมือปลายเท้า กลัวแสง เป็นต้น
ไมเกรนเกิดจากอะไร
ยังไม่มีการยืนยันสาเหตุที่แน่นอน เชื่อว่า เกิดจากการมีปัจจัยกระตุ้นให้เส้นประสาทในสมองหลั่งสารบางอย่างออกมาและสารพวกนี้ไปทำให้เส้นเลือดขยายตัว การที่เส้นเลือดขยายตัวนี้เองทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน
สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการปวด
สิ่งกระตุ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น
- อยู่ในที่มีเสียงดัง อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป มีแสงสว่างจ้า
- การใช้สายตาเพ่งดูอะไรนานๆ
- การสูดดมกลิ่นฉุนๆ เช่น ควันบุหรี่
- การอดนอนหรือนอนมากเกินไป
- หิวจัดหรือกินอาหารผิดเวลา
- ความเครียดทางอารมณ์
- การถูกกระแทงแรงๆที่ศีรษะ
- อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ มีประจำเดือน หรือก่อนมีประจำเดือน การใช้ยาคุมกำเนิด
- อาหารบางชนิด เช่น กาแฟ เนยแข็ง ช็อกโกแลต นมเปรี้ยว เหล้า เบียร์ อาหารทะเล อาหารทอด ผงชูรส ผลไม้รสเปรี้ยวอย่าง ส้ม มะนาว เป็นต้น
ไมเกรนรักษาอย่างไร
ที่สำคัญ คือ ควรสังเกตตัวเองว่า อะไรที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด แล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
การรักษาด้วยยา
การใช้ยาขณะมีอาการ ควรใช้ให้เร็วที่สุด ถ้าใช้ตอนที่ปวดหัวมากแล้ว มักจะไม่ค่อยได้ผล ถ้าปวดไม่มาก หรือคาดการณ์ล่วงหน้าว่า จะเกิดอาการปวดให้กินยาพาราเซตามอล หรือแอสไพรินทันทีเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการและพักผ่อนในที่มืดและเงียบๆสักครู่ ถ้าวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
การใช้ยาพวกเออร์กอตตามีน เช่น คาเฟอร์กอต (Cafergot) โพลีกอต (Polygot) เพื่อรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร คำแนะนำวิธีใช้ยานี้ มีดังนี้
ให้รับประทานยาทันทีที่มีอาการ 1-2 เม็ด ถ้าไม่หายให้ซ้ำได้อีก 1 เม็ด ทุก 30 นาที แต่ไม่เกิน 6 เม็ดต่อวัน และ 10 เม็ดต่อสัปดาห์
ไม่ควรทานเกินขนาด เพราะอาจเกิดพิษจากยา เช่น เส้นเลือดปลายมือปลายเท้าหดตัวรุนแรงจนขาดเลือด หรือหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการปวดหัวเรื้อรังได้
- ห้ามใช้ในหญิงคั้งครรภ์
- ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจขาดเลือด และเส้นเลือดตีบ
มียาที่ใช้ป้องกันการเกิดหรือไม่ ในบางรายที่มีอาการปวดบ่อยๆ ปวดรุนแรง อาจจำเป็นต้องใช้ยาป้องกันลดความถี่หรือความรุนแรง แต่เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียง และมีข้อห้ามใช้หลายประการ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนใช้
ข้อพึงระวัง
อาการปวดศีรษะบ่อยๆ อาจเป็นอาการแสดงของปัญหาที่รุนแรงได้และการใช้ยาแก้ปวดนานๆอาจได้รับพิษจากยาได้ ในกรณีนี้ ไม่ควรใช้ยารักษาเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์
ที่มา
สถานปฏิบัติการเภสัชชุมชน
คณะเภสัชสาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ไมเกรน เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อย พบได้ทุกวัย และพบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี โรคนี้มักเป็นๆหายๆ เรื้อรัง สร้างความรำคาญ ทรมาน และทำให้เสียงานได้
เราต้องเรียนรู้ถึงสาเหตุของมันด้วย