ค้นหายาสมุนไพร

อ่าน: 923
Small_font Large_font

เปลือกรากหม่อน : Sangbaipi (桑白皮)

คำจำกัดความ

เปลือกรากหม่อน หรือ ซังไป่ผี คือ เปลือกรากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba L.วงศ์ Moraceae [1]

ชื่อภาษาไทย

เปลือกรากหม่อน (ทั่วไป) [2]

ชื่อจีน

ซังไป่ผี (จีนกลาง), ซึงแปะพ้วย (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

White Mulberry Root-bark [1]

ชื่อเครื่องยา

Cortex Mori [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวรากในฤดูใบไม้ร่วงเมื่อใบร่วงหมด และในต้นฤดูใบไม้ผลิก่อนเริ่มผสมพันธุ์ แยกรากฝอยและดินออก ขูดเปลือกหยาบสีน้ำตาลอมเหลืองออก หั่นตามยาว ลอกเอาเฉพาะเปลือกแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 เปลือกรากหม่อน เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้ มาล้างด้วยน้ำสะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นเส้นหรือแว่นหนา ๆ และนำไปทำให้แห้ง [1, 3]
วิธีที่ 2 เปลือกรากหม่อนผัดน้ำผึ้ง เตรียมโดยนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์มาเจือจางด้วยน้ำต้มในปริมาณที่เหมาะสม ใส่ตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 แล้วคลุกให้เข้ากัน หมักไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าในตัวยา จากนั้นนำไปผัดในกระทะโดยใช้ระดับไฟปานกลาง ผัดจนกระทั่งมีสีเหลืองเข้มและไม่เหนียวติดมือ นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น (ใช้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ 25 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [3]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี เปลือกหนา สีขาว เวลาปอกหรือลอกเปลือกต้องมีละอองเกิดขึ้น [4]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

เปลือกรากหม่อน รสอมหวาน เย็น มีฤทธิ์ระบายความร้อน บรรเทาอาการหอบ ใช้แก้ไอ หอบหืด (เนื่องจากปอดร้อน) และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดบวม แก้อาการบวมน้ำ (ระบายและดึงชี่ของปอดลงต่ำ ปรับการหมุนเวียนของน้ำ ขับน้ำ ตัวบวม หน้าบวม กล้ามเนื้อผิวหนังบวม น้ำท่วมปอด ทำให้หอบ ปัสสาวะขัด) [1]
เปลือกรากหม่อนผัดน้ำผึ้ง จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ปอด มีฤทธิ์ระงับไอ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไอและหอบเนื่องจากปอดพร่อง [3]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ 6-12 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. สารสกัดน้ำจากเปลือกรากหม่อนมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูถีบจักรที่เป็นเบาหวานเนื่องจากได้รับสาร streptozotocin เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม [5]
  2. สารสกัดบิวทานอลจากเปลือกรากหม่อนมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนู สารสกัดแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา [5]
  3. สารสกัดน้ำและสารสกัดบิวทานอลจากเปลือกรากหม่อนฤทธิ์แก้ไอ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวม และเป็นยาสงบประสาทในสัตว์ทดลองด้วย [5]
  4. เมื่อฉีดสารสกัดน้ำเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะทำให้สัตว์ทดลองสงบ ความรู้สึกสัมผัสและความเจ็บปวดลดลง สารสกัดน้ำเมื่อให้หนูถีบจักรทางปากในขนาดเทียบเท่าผงยา 2 กรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์ระงับปวดได้ดีเทียบเท่าแอสไพริน 0.5 กรัม/กิโลกรัม สารสกัดน้ำยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคที่เกิดอาการเจ็บคอ เชื้อบิด และเชื้อรา [6]
  5. เมื่อให้ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการน้ำลายไหลที่มุมปากรับประทานสารสกัดน้ำในขนาดเทียบเท่าผงยา 20 กรัม โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ ให้ใช้ขนาดเทียบเท่าผงยา 10 กรัม และให้แบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกันนาน 3-7 วัน พบว่าอาการดังกล่าวหายเป็นปกติ โดยทั่วไปเปลือกรากหม่อนไม่ใช้เดี่ยว ส่วนใหญ่จะใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาอาการบวมน้ำ หลอดลมอักเสบ และเยื่อหุ้มปอดอักเสบ [6]
  6. การศึกษาพิษเฉียบพลันของสารสกัด 50% แอลกอฮอล์จากพืชทั้งต้นเมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร มีค่า LD50 มากกว่า 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สารสกัดบิวทานอลจากเปลือกราก เมื่อให้กิน ฉีดเข้าช่องท้อง หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำในหนูถีบจักร ขนาด 20, 10 และ 5 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว ตามลำดับ ไม่พบความเป็นพิษ3 สารสกัดน้ำเมื่อให้ทางปาก หรือฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรในขนาดเทียบเท่าผงยา 10 กรัม/กิโลกรัม และฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำในขนาดเทียบเท่าผงยา 5 กรัม/กิโลกรัม ไม่ทำให้หนูตัวใดตาย นอกจากนี้ยังพบว่าการให้ยาในขนาดสูงครั้งเดียว หรือแบ่งรับประทานครั้งละน้อย ๆ ให้ผลไม่แตกต่างกัน ซึ่งจากผลการทดลองข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าเปลือกรากหม่อนมีพิษน้อย [6]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  4. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  5. อัญชลี จูฑะพุทธิ (บรรณาธิการ). สมุนไพรไทยก้าวไกลสู่สากล. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ ร.ส.พ., 2548.
  6. Deng YC. Cortex Mori: sang bai pi. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.


24 มิถุนายน 2553 30 พฤศจิกายน 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย