มอร์ฟีน เป็นยาระงับปวด ที่ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีความปวดรุนแรงและเรื้อรัง ซึ่งเดิมมีอยู่ในรูปของยาฉีด ปัจจุบันมีการเตรียมยาชนิดรับประทาน เพื่อสะดวกในการใช้ระงับความปวด ได้มีการศึกษาในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน พบว่าไม่ทำให้เกิดการติดยา หากมีการใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์
ยามอร์ฟีนที่ใช้รับประทานในขณะนี้มี 2 รูปแบบ คือ
- มอร์ฟีนชนิดน้ำ
- ชนิดน้ำเชื่อมขนาด 1 มิลลิกรัม/ซีซี
- ชนิดเข้มข้นขนาด 20 มิลลิกรัม/ซีซี
- มอร์ฟีนชนิดแคปซูล ขนาด 20 มิลลิกรัม , 50 มิลลิกรัม และ 100 มิลลิกรัม
ข้อควรปฏิบัติในการใช้ยามอร์ฟีน
- ควรรับประทานยาตามเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลระงับปวด
- ยามอร์ฟีนน้ำ ควรรับประทานสม่ำเสมอทุก 4 ชั่วโมง คือ เวลา 6 น. , 10 น. , 14 น. , 18 น. , 22 น. และ 2 น. เพื่อให้ได้ผลการดูดซึมของยาสูงสุด ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง ถ้าผู้ป่วยต้องการพักผ่อนอาจเว้นการใช้ยามื้อ 2 น. แล้วรับประทานยาเป็นสองเท่าในมื้อ 22 น.
- ยามอร์ฟีนชนิดแคปซูล ออกฤทธิ์นานกว่า ดังนั้นจึงสามารถรับประทานได้ทุก 12 หรือ 24 ชั่วโมง ยาชนิดนี้ห้ามแบ่งใช้ ห้ามเคี้ยว แต่สามารถแกะแคปซูลออกเพื่อผสมน้ำให้ทางสายยางให้อาหารได้ หลังให้ยาควรตามด้วยน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้ยาค้างอยู่ในสายยางให้อาหาร เพราะจะทำให้ได้ปริมาณยาไม่ครบตามต้องการ
- ควรประเมินผลภายหลังการใช้ยาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะในระยะแรกขนาดของยาที่เริ่มใช้อาจยังไม่เหมาะสม จำเป็นต้องปรับปริมาณการใช้ ไม่ควรงดหรือลดยาเอง หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์และพยาบาล
- ควรรับประทานยาตามเวลา ไม่ควรรับประทานยาเฉพาะเวลาปวด และใช้ในขนาดที่แนะนำ การตวงยาน้ำควรใช้ช้อนตวงของโรงพยาบาล หรือกระบอกฉีดยา ดูดยาตามขนาดที่แพทย์หรือพยาบาลแนะนำ ห้ามรับประทานยาจากขวดยาโดยตรง เพราะจะทำให้ได้ขนาดยาไม่แน่นอน ทำให้การระงับปวดไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
- ถ้าลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกได้ และรับประทานครั้งต่อไปตามเวลาที่กำหนด ไม่ควรกำหนดเวลาเองเพราะจะทำให้สับสน
- ควรตรวจเช็ค ชนิดและขนาดยาที่รับประทานทุกครั้ง รวมทั้งวิธีใช้ที่ถูกต้อง หากมีข้อสงสัยให้กลับไปสอบถามแพทย์ที่ให้การรักษา
อาการข้างเคียงที่พบได้
- ง่วงซึมหรือนอนหลับทั้งวัน ส่วนใหญ่อาการนี้จะหายไปภายใน 2-3 วันแรกหลังการใช้ยา หากพบว่านอนหลับมากผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์
- คลื่นไส้ อาเจียน อาการนี้อาจพบได้ในระยะแรกที่ได้รับยา ถ้ามีอาการมากให้รีบปรึกษาแพทย์
- ท้องผูก เป็นอาการที่พบได้บ่อย ควรป้องกันโดยรับประทานอาหารที่มีกาก ดื่มน้ำมากๆ และอาจจำเป็นต้องรับประทานยาระบาย
ถ้าพบอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ผื่น คัน ท้องเสีย สับสน ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือพยาบาล
ที่มา
หน่วยระงับปวด
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล