เยื่อไผ่เป็นอาหารยอดนิยมในปัจจุบัน มักนำมาปรุงเป็นน้ำแกง แกงจืดเยื่อไผ่ ซึ่งเยื่อไผ่ที่เรารับประทานเข้าไปนั้นเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายร่างแห ตาข่ายหรือฟองน้ำ
ลักษณะของเห็ดเยื่อไผ่ เมื่อยังอ่อนมีลักษณะก้อนกลมสีขาวคล้ายฟองไข่นก เมื่อโตขึ้นลำต้นและหมวกเห็ดจะยืดตัวแทรกออกจากเปลือก มักขึ้นเป็นดอกเดี่ยวๆ และเมื่อโตเต็มที่มีลักษณะเด่น คือหมวกเห็ดมีรูปร่างเหมือนตาข่ายหรือแห หรือกระโปรงลูกไม้ของสุภาพสตรี ก้านเห็ดเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ ส่วนบนสุดของดอกมักมีสีเข้มทำหน้าที่ผลิตสปอร์และกลิ่นที่เหม็นล่อแมลงเพื่อการขยายพันธุ์ เห็ดชนิดนี้มีหลายสี เช่น สีส้ม แดง ขาว เหลือง ชมพู มักขึ้นในป่าที่มีฝนชุกหรือป่าช่วงฤดูฝน
การขยายพันธุ์ เห็ดเยื่อไผ่ขยายพันธุ์โดยสปอร์ซึ่งมีแมลงเป็นตัวช่วย พบมากบริเวณป่าฝนชุก หรือป่าช่วงฤดูฝน มีการเพาะเลี้ยงทั่วไปเพื่อการค้า เช่น ในประเทศจีนมีการเพาะเลี้ยง 2 ชนิดคือชนิดกระโปรงยาวสีขาว และกระโปรงสีแดง มากกว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งมีราคากิโลกรัมละประมาณ 3,000-5,000 บาทขึ้นอยู่กับคุณภาพของเห็ด บางแห่งมีการเพาะเลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นจนเก็บขาใช้เวลาประมาณ 60 วัน
ชื่อของเห็ด เห็ดชนิดนี้มีหลายชื่อ เช่นประเทศไทยเรียก เห็ดร่างแห เห็ดเยื่อไผ่ เยื่อไผ่ ภาคอีสานเรียกเห็ดคางแห เพราะหมวกเห็ดคล้ายแหจับปลา ส่วนต่างประเทศมีหลายชื่อ เช่น Bamboo mushroom, Long net stinkhorn, Basket stinkhorn, Veiled lady, King of mushroom, Netted stinkhorn, Dancing mushroom ที่มาของชื่อน่าสนใจเพราะตั้งตามลักษณะเด่น เช่น เห็ดเต้นรำ (Dancing mushroom) ซึ่งเป็นการสังเกตตรงส่วนที่เป็นหมวกเห็ดมีลักษณะคล้ายกระโปรงลูกไม้สุภาพสตรีเมื่อโดนลมพัดคล้ายกระโปรงลูกไม้สุภาพสตรีเมื่อโดนลมพัดคล้ายสตรีเต้นระบำ ในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า เห็ดราชา (King of mushroom) นอกจากนี้มีการใช้คำว่า “stinkhorn” ต่อท้ายชื่อ เพราะตรงส่วนบนสุดของเห็ดเป็นแหล่งผลิตสปอร์และมีกลิ่นเหม็นเพราะต้องการล่อแมลงให้มาดูดกินเพื่อการขยายพันธุ์
ชนิดของเห็ด ประเทศจีนมีเห็ดชนิดนี้ 9 ชนิด รับประทานได้เพียง 4 ชนิด ในประเทศไทยภาคอีสานพบ 5 ชนิด คือเห็ดกระโปรงยาวสีขาว กระโปรงสั้นสีขาว กระโปรงสีส้ม และกระโปรงสีแดง และที่นิยมนำมารับประทานคือชนิดกระโปรงสีขาวและกระโปรงสั้นสีขาว
สารอาหารในเห็ด ประเทศที่จำหน่ายเห็ดได้ระบุว่า เห็ดเยื่อไผ่แห้งจำนวน 100 กรัม ประกอบด้วยโปรตีน 26.3 กรัม ไขมัน 4.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 44.9 กรัม กาก 6.4 กรัม กรดอะมิโน 16 ชนิดและวิตามินอีกหลายชนิด
การใช้ประโยชน์ ประเทศจีนได้นำเห็ดชนิดนี้มาใช้ประมาณ 3,000 ปีแล้ว โดยเป็นส่วนผสมในยา และปรุงเป็นอาหาร เชื่อว่าสามารถลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต บำรุงร่างกายเมื่ออ่อนแอ โรคที่เกี่ยวกับไต ตา ปอด ตับอักเสบ หวัด ช่วยระบบขับลม ลดความอ้วน แต่ที่ได้ศึกษาแล้วคือ นำมาเป็นส่วนผสมน้ำมันนวดแก้โรคเกาต์และรูมาติซึมได้ ประเทศแถบเอเชียมักนิยมรับประทานเห็ดที่ตากแห้ง โดยนำมาเติมน้ำร้อนและสามารถดื่มได้ทันที สำหรับประเทศไทยนิยมนำมาประกอบเป็นอาหาร เช่น ซุปเยื่อไผ่ แกงจืดเยื่อไผ่
ที่มา: สำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
แล้วเยื่อไผ่ ที่เกิดในประเทศไทย นำมาปรุงเป็นอาหารได้หรือเปล่า มันเกิดอยู่หลังบ้านเต็มเลย