ถึงแม้ว่าอาหารไม่ใช่สาเหตุหลักของการเกิดโรคเกาต์
เพียงแต่มีส่วนกระตุ้นให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์ หรือเป็นโรคเกาต์มีข้ออักเสบได้ง่ายขึ้น
มีการศึกษาที่พบว่าการงดรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนจะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดลดลงเพียง 1 มก./ดล. เท่านั้น
หลักปฏิบัติเพื่อป้องกันหรือช่วยให้อาการทุเลา
1.กรณีภาวะน้ำหนักตัวเกินควรลดน้ำหนัก
และการลดน้ำหนักควรเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรเกินครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ เพราะการลดน้ำหนักมากๆในระยะเวลาสั้นอาจมีผลทำให้เกิดภาวะคีโตนในเลือดสูง
ส่งผลให้การขับกรดยูริกออกจากร่างกายลดลง และที่สำคัญไม่ควรลดน้ำหนักโดยการอดอาหารอย่างเด็ดขาด
เพราะจะทำให้มีการสลายตัวของเซลล์ในร่างกายรวดเร็วผิดปกติ ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากขึ้นและเกิดข้ออักเสบกำเริบได้
2เครื่องดื่มอัลกอฮอร์
เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากทำให้มีการสร้างกรดยูริกเพิ่มขึ้น และยังลดการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย
3.พยายามดื่มน้ำให้มาก เพราะน้ำจะช่วยขับกรดยูริคออกจากร่างกาย และลดความเข้มข้นของกรดยูริคในเลือดทำให้ลดโอกาสก่อตัวของเกล็ดผลึกโมโนโซเดียมยูเรตที่ก่อให้เกิดโรคเกาต์ โดยปกติในผู้ใหญ่ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้วหรือ 2 ลิตร แต่ในกรณีเกิดอาการโรคเก๊าท์อาจเพิ่มเป็น 3- 4 ลิตร ยกเว้น ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคหัวใจที่แพทย์แนะนำไม่ให้ดื่มน้ำมากเกินไป
4.ควรรับประทานผักให้ได้ทุกมื้อ
เพราะผักส่วนใหญ่มีคุณสมบัติเป็นด่าง ช่วยให้เลือดมีความเป็นด่างที่เหมาะสม ปกติเลือดของคนเรามีค่า pH ประมาณ 7.4 ซึ่งมีความเป็นด่างอ่อนๆ จะช่วยให้ละลายกรดยูริคได้มากขึ้น โดยเฉพาะผักชนิดใบเขียว รับประทานอย่างน้อย 4-5 ทัพพี
5การรับประทานข้าวแป้งให้เพียงพอ
โดยทั่วไปควรรับประทานวันละ 8-10 ทัพพีเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องเผาผลาญโปรตีนที่มีอยู่ในกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นพลังงาน เพราะการเผาผลาญโปรตีนลักษณะนี้จะทำให้มีการสลายกรดยูริกออกมาในกระแสเลือดมากขึ้น
6.เลือกรับประทานเนื้อสัตว์
ให้เหมาะสมกับความต้องการของร่ายกาย ไม่มากจนเกินไปในผู้ใหญ่อายุ > 35 ปี รับประทานเนื้อสัตว์ ไม่เกิน 2 – 2 ½ ขีด/วัน และควรเลือกที่มีไขมันต่ำไม่ติดมันติดหนัง
7.หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารโดยใช้ไขมันสูง อาทิ แกงกะทิ ผักผัดใส่น้ำมันพืชหรือน้ำมันหอยจำนวนมาก
8.พยายามลดความเครียด ทำให้เกิดการใช้พลังงานสูงขึ้น การใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น (increased turnover of ATP) ทำให้เกิดการสร้างกรดยูริคเพิ่มขึ้น
เข้าถึงได้จาก Healthy/purine.htm
เรียบเรียงโดย พรพิศ เรืองขจร
นักวิชาการโภชนาการ ชำนาญการ 8 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์