ค้นหายาสมุนไพร
หมาก : Binglang (槟榔)
หมาก หรือ ปิงหลาง คือ เมล็ดสุกที่ทำให้แห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Areca catechu L. วงศ์ Palmae [1]
หมาก, หมากเมีย (ทั่วไป); หมากมู้, แซ (แม่ฮ่องสอน); สีซะ (ภาคเหนือ); มะ (ตราด); เซียด (นครราชสีมา) [2]
ปิงหลาง (จีนกลาง), ปิงน้อ (จีนแต้จิ๋ว) [1]
Areca Seed [1]
Semen Arecae [1]
เก็บเกี่ยวผลสุกในปลายฤดูใบไม้ผลิถึงต้นฤดูใบไม้ร่วง ต้มน้ำให้เดือด ตากแดดให้แห้ง กรีดแยกเปลือกออก เอาเมล็ดตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1, 3]
การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 3 วิธี ดังนี้วิธีที่ 1 เมล็ดหมาก เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ปราศจากสิ่งปนปลอม มาแช่น้ำ 3-5 วัน นำตัวยาออกมาใส่ในภาชนะที่เหมาะสม ราดด้วยน้ำสะอาด หมักไว้จนกระทั่งน้ำซึมเข้าไปในเนื้อตัวยา หั่นเป็นแว่นบาง ๆ ตากให้แห้งในที่ร่ม [1, 4]วิธีที่ 2 เมล็ดหมากผัด เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟระดับปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวนอกมีสีเหลืองอ่อน ๆ นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก [4] วิธีที่ 3 เมล็ดหมากผัดเกรียม เตรียมโดยนำตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 ใส่กระทะ ผัดโดยใช้ไฟแรงปานกลาง ผัดจนกระทั่งผิวนอกของตัวยามีสีเหลืองเกรียม มีกลิ่นหอม นำออกจากเตา ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วร่อนเอาเศษเล็ก ๆ ออก [4]
ตัวยาที่มีคุณภาพดี ต้องเป็นแว่นบาง ๆ หน้าตัดมีสีขาวอมน้ำตาล ระหว่างกลางมีลายเส้นลักษณะคล้ายลายหิน ขอบรอบ ๆ มีสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอมแดงอ่อน เนื้อแข็งเปราะ แตกหักง่าย มีกลิ่นอ่อน ๆ รสเฝื่อน ขมเล็กน้อย [5]
หมาก รสขมเผ็ด อุ่น มีฤทธิ์ถ่ายพยาธิ ท้องมานจากพยาธิ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในลำไส้ และมีฤทธิ์ทำให้ชี่หมุนเวียน ขับน้ำ แก้อาการอาหารตกค้าง ชี่ไม่หมุนเวียน ถ่ายท้อง บิด ปวดถ่วง แก้อาการบวมน้ำ ขาบวม ปวด และแก้มาลาเรีย [1]เมล็ดหมากผัด และเมล็ดหมากผัดเกรียม จะช่วยให้ฤทธิ์ของยานุ่มนวลขึ้น และช่วยลดอาการข้างเคียงของตัวยา เช่น คลื่นเหียนอาเจียน ปวดท้อง มีสรรพคุณและวิธีใช้เหมือนกัน โดยมีฤทธิ์ช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องเสีย ใช้รักษาอาการธาตุพิการ แก้บิดขั้นรุนแรง เมล็ดหมากผัดจะมีฤทธิ์แรงกว่าเมล็ดหมากและเมล็ดหมากผัดเกรียม โดยทั่วไปคนที่มีร่างกายแข็งแรงจะใช้เมล็ดหมากผัด สำหรับคนที่มีร่างกายไม่แข็งแรงจะใช้เมล็ดหมากผัดเกรียม [4]
เมล็ด รสขมฝาด ทำให้เจริญอาหาร กล่อมประสาท ขับเสมหะ แก้เมาเหล้า อาเจียนอย่างแรง ไอ สมานแผล [3]
การแพทย์แผนจีน ใช้ 3-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1] การแพทย์แผนไทย ใช้ 5-10 กรัม (ถ้าใช้ขับพยาธิ ใช้ 60-90 กรัม) ต้มกินหรือบดเป็นผงทำเป็นยาเม็ดหรือยาผงกิน ใช้ภายนอกต้มชะล้างหรือบดเป็นผงผสมทา [3]
การแพทย์แผนไทย ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือหลังจากท้องเสียหรือเป็นมาลาเรีย [3]
สาร arecoline ในเมล็ดมีฤทธิ์ขับพยาธิ ต่อพยาธิตัวตืดในหมู ทำให้พยาธิทั้งตัวเป็นอัมพาต ต่อตืดวัว ทำให้ส่วนหัวและข้อที่ยังไม่แก่เป็นอัมพาตต่อปล้องตรงกลางและท้ายที่เป็นส่วนผสมพันธุ์ มีผลไม่แรงนักต่อพยาธิเข็มหมุด โดยทดลองกับพยาธิเข็มหมุดนอกร่างกายของหนู ทำให้พยาธิเป็นอัมพาตได้ นอกจากนี้ arecoline ยังเป็นพิษต่อพยาธิไส้เดือน แต่ไม่มีผลต่อพยาธิปากขอ
จากการทดลองในหลอดทดลองพบว่า น้ำแช่สกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Staphylococcus aureus เชื้อราที่ทำให้เป็นกลากเกลื้อน และราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่นอีกได้ นอกจาก นั้นสารต้มสกัดและน้ำแช่สกัด ยังมีฤทธิ์ทำลายพิษของเชื้อโรคพวกบาซิลลัสได้อย่างมีนัยสำคัญ สารสกัดแอลกอฮอล์สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ Escherichia coli, Candida albicans, C. tropicalis และ Triphophyton interdigitate ส่วนสารละลาย arecoline ความเข้มข้น 2% ไม่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ S. aureus แต่สารสกัดน้ำสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อนี้ได้ แม้ในขนาดความเข้มข้น 1 ต่อ 10,000 ส่วน ดังนั้นฤทธิ์ฆ่าเชื้ออาจเนื่องจากสารพวกฟีนอลและแทนนินที่มีมากในเมล็ดก็ได้ [3]
สารสกัดน้ำ สารสกัดแอลกอฮอล์ สารสกัดด้วยกรด และสารสกัดด้วยด่างจากเมล็ด มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดฝอยขาหลังของหนูทดลองหดตัว สารสกัดด้วยด่างจะมีฤทธิ์แรงและนานที่สุด สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์รองลงมา สารสกัดน้ำและสารสกัดด้วยกรดมีฤทธิ์ไม่แรงนัก สารสกัดน้ำจะเพิ่มฤทธิ์ของ adrenaline ที่มีต่อหลอดเลือดฝอยขาหลังของหนูทดลอง ทั้งเพิ่มความแรงและระยะเวลาในการออกฤทธิ์ได้นานขึ้น สารพวกฟีนอลจากหมากสามารถเพิ่มฤทธิ์ของ adrenaline แต่ตัวของมันเองไม่แสดงฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว [3]หมากมีสารที่ทำให้เกิดมะเร็งที่เยื่อเมือกในช่องปาก ปกติเมื่อเคี้ยวหมาก จะทำให้การรับรู้ต่อรสน้อยลง ความอยากอาหารลดลง ฟันดำ และโยกคลอนง่าย ท้องผูก เจ็บคอน้อยลง และยังแก้ปวดท้องอีกด้วย อาจเนื่องจากหมากมีแทนนินปริมาณมาก ในกลุ่มคนที่เคี้ยวหมากเป็นประจำ พยาธิลำไส้จะลดลง อาการกระหายน้ำลดลง อาจเนื่องจากฤทธิ์ของ adrenaline [3]
เมื่อรับ adrenaline มากเกินไป ทำให้มีอาการพิษเกิดขึ้น มีอาการน้ำลายออกมาก น้ำลายยืด อาเจียน ปัสสาวะมาก มึนงง สลบ ชัก ถ้าเกิดจากกินมากไป แก้โดยใช้สารละลายด่างทับทิมเจือจาง ล้างกระเพาะอาหารและฉีด atropine แก้อาการพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น [3]
The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ, วชิรา แดนตะวัน, สถาพร ลิ้มมณี, ชะนะ ครองรักษา, ทิพวัลย์ ทรัพย์เจริญ. สมุนไพร อันดับที่ 03: การรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับงานวิจัยของโครงการศึกษาวิจัยสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.
Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
เรียบเรียงโดย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2553
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2553