ในระยะสองสามปีที่ผ่านมานี้คำว่า “ภาวะโลกร้อน” น่าจะเป็นที่คุ้นหูของผู้ที่ติดตามข่าวสาร เนื่องจากเป็นคำที่มีการกล่าวถึงกันมาก แต่หากถามว่า “ภาวะโลกร้อน” นี้จะมีผลอย่างไรต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์หรือเราควรจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อช่วยชะลอ “ภาวะโลกร้อน” นี้ให้เป็นไปอย่างช้า ๆ
เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า “ภาวะโลกร้อน” นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร “ภาวะโลกร้อน” โดยความหมายคือ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยบริเวณผิวโลก ซึ่งจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่าตั้งแต่ ค.ศ. 1906 ถึง ค.ศ. 2005 อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นประมาณ 0.74 องศาเซลเซียส และหากเปรียบเทียบอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ในช่วงดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือในรอบ 50 ปีแรกระหว่าง ค.ศ. 1906-1955 มีการเพิ่มของอุณหภูมิ ในอัตรา 0.07 องศาเซลเซียสต่อ 10 ปี แต่พบว่าในช่วง 50 ปีหลังระหว่าง ค.ศ. 1956-2005 อุณหภูมิของโลกมีอัตรา การเพิ่ม 0.13 องศาเซลเซียสต่อ 10 ปี จะเห็นว่าอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิโลกสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 และยิ่งน่าตกใจเมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 2,000-3,000 ปีก่อน ค.ศ. 1850 พบว่าอุณหภูมิของโลกนั้นแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
สาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น การแผ่รังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ หรือการเกิดภูเขาไฟ ซึ่งมีส่วนทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นบริเวณต่าง ๆ บนผิวโลกก็มีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน จากการศึกษาพบว่าอัตราการเพิ่มอุณหภูมิของส่วนที่เป็นพื้นดินสูงกว่าส่วนที่เป็นมหาสมุทรถึง 2 เท่า เนื่องจากน้ำมีความสามารถดูดซับความร้อนได้ดีกว่า และระบายความร้อนจากกระบวนการระเหยกลายเป็นไอ นอกจากนั้นยังพบว่าซีกโลกทางเหนือมีอัตราการเพิ่มอุณหภูมิสูงกว่าซีกโลกทางใต้เนื่องจากมีส่วนที่เป็นพื้นดินมากกว่า รวมถึงมีสภาวะอากาศที่มีหิมะ และทะเลน้ำแข็งแผ่ปกคลุมเป็นบริเวณกว้างกว่า แต่สาเหตุหลักของ “ภาวะโลกร้อน” เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงและถ่านหิน การตัดไม้ทำลายป่า ยิ่งอุตสาหกรรมมีการพัฒนามากขึ้นเพียงใดยิ่งเป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมากเท่านั้นเนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นตัวการในการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และสารหล่อเย็น เข้าสู่ชั้นบรรยากาศทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น
ผลกระทบที่เกิดจาก “ภาวะโลกร้อน” หรือเมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
- เป็นผลทำให้น้ำมีการระเหยเพิ่มขึ้น อุณหภูมิของโลกก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก
- ทำให้เมฆก่อตัวอย่างผิดปกติ ส่วนที่อยู่ด้านล่างของแผ่นเมฆจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากเกิดการปลดปล่อยรังสีอินฟราเรด แต่ส่วนที่เหนือขึ้นไปกลับมีอุณหภูมิลดลงเนื่องจากเกิดการสะท้อนแสงอาทิตย์และปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดออกสู่อวกาศ
- ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเกิดเป็นแผ่นดินหรือผืนน้ำเข้ามาแทนที่ซึ่งทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นดินและน้ำสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้น้อยกว่าน้ำแข็ง จึงดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ให้อยู่บนผิวโลกได้มากกว่า
- ทำลายระบบนิเวศน์ของมหาสมุทร เนื่องจากเมื่อมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้นจะระงับการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ที่ระดับความลึก 200-1,000 เมตร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนสำหรับพืชอื่น ๆ ในมหาสมุทร เป็นการทำลายห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ
- นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการเลื่อนตัวของธารน้ำแข็ง การพังทลายของภูเขาน้ำแข็ง พื้นที่ของขั้วโลกเหนือลดลง ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและการเพิ่มขึ้นของภัยธรรมชาติ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะเห็นว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ทุกคน ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่นการเกิดวาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือการเกิดพายุหิมะ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนภัยทั้งสิ้น ถ้าเรายังคงเพิกเฉย และดำเนินชีวิตในรูปแบบเดิม ๆ ไม่แน่ว่าความรุนแรงทั้งหลายนี้จะเพิ่มมากขึ้นในยุคต่อ ๆ ไปหรือไม่
หากเราต้องการหยุดยั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่อาจจะรุนแรงในอนาคต พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนช่วยในการลด “ภาวะโลกร้อน” โดยการปฏิบัติตามวิธีที่จะแนะนำต่อไปนี้
- ปฏิบัติตนในรูปแบบ 3R คือ Reduce, Reuse, Recycle โดยพยายามลดปริมาณขยะจากพลาสติก กระดาษ กระป๋องน้ำอัดลม หรือการนำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำ และพยายามเลือกซื้อสินค้าที่มีขนาดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับปริมาณการใช้ เพื่อลดขยะจากหีบห่อและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
- การใช้เครื่องปรับอากาศอย่างคุ้มค่า โดยการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่และประหยัดไฟ ตั้งอุณหภูมิให้พอเหมาะ รวมถึงการทำความสะอาดแผ่นกรองอย่างสม่ำเสมอ
- เปลี่ยนหลอดไฟ โดยเปลี่ยนหลอดไฟชนิดหลอดไส้เป็นหลอดผอม ถึงแม้จะมีราคาแพงกว่าแต่สามารถประหยัดไฟฟ้า และระยะการใช้งานนานกว่า
- ลดการขับรถยนต์ออกจากบ้านและวางแผนการเดินทาง เนื่องจากไอเสียของรถยนต์เป็นตัวการที่ทำให้เพิ่มปริมาณแก๊สเรือนกระจก จึงควรพิจารณาการเดินทางโดยบริการสาธารณะ และวางแผนการเดินทางล่วงหน้า หรือหากจำเป็นต้องขับรถยนต์ ควรตรวจสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ และยางรถยนต์ เพื่อการประหยัดพลังงาน
- เลือกซื้อสินค้าที่ประหยัดพลังงานหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากต้องการซื้อสินค้าใหม่ ๆ เข้าบ้าน ควรพิจารณาดูฉลากว่าสินค้านั้นสามารถประหยัดพลังงานได้หรือไม่ และผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในปัจจุบันผู้ผลิตมักนิยมโฆษณาไว้บนผลิตภัณฑ์หากสินค้านั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ลดการใช้เครื่องไฟฟ้า โดยการสำรวจว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราเปิดใช้เป็นประจำนั้นมีการใช้งานอย่างคุ้มค่าหรือไม่ เช่น เปิดทีวีหลายเครื่องแต่ชมรายการเดียวกัน หรือการอาบน้ำอุ่นในวันที่อากาศร้อน อย่าแช่อาหารในตู้เย็นปริมาณมากเกินความต้องการ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ทันทีและประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย
- ปิดสวิทช์เมื่อไม่ใช้ ตรวจดูห้องที่ไม่มีคนอยู่ หรือบริเวณที่ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟ หากพบการเปิดไฟโดยไม่จำเป็นควรปิดสวิทช์ทุกครั้ง รวมถึงก๊อกน้ำประปาด้วย
- ช่วยกันปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้ช่วยลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจน และยังช่วยดูดซับความความร้อนได้เป็นอย่างดี
- บันทึกปริมาณการใช้พลังงาน โดยการเก็บใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วเปรียบเทียบปริมาณการใช้ในแต่ละเดือน จากนั้นพยายามตั้งเป้าการลดปริมาณการใช้ลง แล้วพยายามดำเนินการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
- แบ่งปันความรู้และสร้างเครือข่าย หากท่านสามารถปฏิบัติตนในการช่วยลด “ภาวะโลกร้อน” ได้แล้วอย่ารีรอที่จะแบ่งปันความรู้ และวิธีการของท่านแก่คนอื่น ๆ รวมถึงการสร้างเป็นเครือข่ายที่มีเป้าประสงค์ในการที่จะช่วยกันลด “ภาวะโลกร้อน”
จาก 10 วิธีดังกล่าวจะเห็นว่าเป็นวิธีการที่ง่าย ๆ ทุกคนสามารถทำได้ หรือบางคนอาจจะปฏิบัติเป็นประจำอยู่แล้วด้วยซ้ำ เพียงแต่นำมารวบรวมเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าการปฏิบัติตนของแต่ละคนนั้นสามารถมีผลกระทบต่อส่วนรวมทั้งสิ้น หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันจนเป็นกิจวัตร สังคมโดยรวมก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น ผู้ผลิตสินค้าก็ต้องพยายามที่จะพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเนื่องจากเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพราะหากไม่มีการเริ่มต้นรณรงค์ให้คนตระหนักถึงการเกิด “ภาวะโลกร้อน” นักวิทยาศาสตร์คาดว่าอุณหภูมิของโลกเมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 จะเพิ่มขึ้นอีก 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ขึ้นกับแต่ละภูมิภาคบนโลก และอัตราการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ดังนั้นหากเราต้องการให้โลกใบนี้ยังคงน่าอยู่ต่อไปก็ควรจะตระหนักและช่วยกันปฏิบัติตนในการที่จะช่วยลด “ภาวะโลกร้อน” กันอย่างจริงจัง
เรียบเรียงโดย
นางสาวกานดา โกมลวัฒนชัย นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการพิเศษ
โครงการเคมี กรมวิทยาศาสตร์บริการ
ปัญหาโลกร้อนนี่มันน่ากลัวจริงๆ สงสัยต้องลดๆการใช้แอร์ที่บ้านหน่อยแล้ว