เครียด ภาวะจิตใจที่เกิดจากความตื่นกลัว เตรียมเผชิญกับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจนทำให้เกิดความรู้สึกหนักใจ กังวล ไม่สบายใจ ซึ่งถ้าเก็บไว้นานๆ อาจส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ เช่น ปวดหัว ความดันโลหิตสูง อาการท้องผูกท้องเสียบ่อยๆ นอนไม่หลับ ซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือกลายเป็นโรคประสาทได้ ด้วยความร้ายกาจของอาการเครียดนี้ทำให้มีผู้พยายามสรรหากรรมวิธีต่างๆ เพื่อคลายความเครียด เช่น ออกกำลังกาย โยคะ ฝึกสมาธิ วิธีหนึ่งในหลายๆ กรรมวิธีคลายเครียดที่เชื่อกันว่าได้ผลดีอย่างหนึ่งนั้นคือ การใช้ “อาหารคลายเครียด”
สมาคมโภชนาการสหรัฐอเมริกาพบว่า การที่ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนจะช่วยในเรื่องการรักษาสมดุลของอารมณ์ได้ เพราะอาหารเป็นตัวหนึ่งที่สร้าง “เซโรโนทนิน” (Serotonin) สารเคมีในสมองที่ช่วยทำให้ใจเย็น เบิกบานขึ้น รวมไปถึง “ทริปโตฟาน” (Tryptophan) สารอาหารที่ช่วยละระดับความเครียดได้ แต่อาหารประเภทใดที่ช่วยลดระดับความเครียดได้ หรือมีสารช่วยให้เบิกบานอยู่นั้นคงต้องพิจารณาจากสมบัติอาหารที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินมาแล้วว่าจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีขึ้นดังนี้
- อาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี12 และกรดโฟลิก วิตามินสองตัวนี้มีส่วนสำคัญในการป้องกันความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง โรคอารมณ์แปรปรวนและโรควิกลจริต มีงานวิจัยที่บ่งว่าการกินอาการที่อุดมไปดว้ยกรดโฟลิคในปริมาณมากๆ นั้น ส่งผลต่อการลดลงของการเกิดอาการซึมเศร้าในคนเกือบทุกเชื้อชาติ กรดโฟลิกพบมากในถั่วและผักใบเขียว ส่วนวิตามินบี12 พบมากในเนื้อปลา ไก่ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม
- ผลไม้และผัก ผักและผลไม้เต็มไปด้วยสารอาหารและสารเคมีจากพืช (Phytochemicals) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดี และเมื่อการทำงานของร่างกายเป็นปกติ ย่อมส่งผลให้จิตใจมีความสดใสตามไปด้วย ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า “ผักโขมและถั่ว” เป็นผักที่เต็มไปด้วยวิตามินซี ไฟเบอร์และกรดโฟลิค ซึ่งช่วยในการสร้างเซโรโทนิน ((Serotonin) ที่ช่วยให้อารมณ์อยู่ในภาวะปกติ สำหรับผลไม้ เช่น กล้วย น้ำมะตูม นับเป็นอาหารคลายเครียดอันดับต้นๆ พบว่ามีคุณสมบัติช่วยลดอาการกระวนกระวายได้ ช่วยลดอาการเครียด ทำให้นอนหลับสบายได้อีกด้วย
- อาหารที่อุดมด้วยซีเลเนียม (Selenium) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยให้อารมณ์ดีได้อย่างไร มีงานวิจัยบางเรื่องตั้งข้อสังเกตว่า การเกิดภาวะที่มีอนุมูลอิสระมากจนสารต้านอนุมูลอิสระไม่เพียงพอ (Oxidative Stress) ในสมอง ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดเล็กน้อยถึงปานกลางในกลุ่มผู้สูงอายุ การรับประทานอาหารที่มีสารซีเลเนียมในกลุ่มตัวอย่างช่วยให้ลดความเครียดลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีซีเลเนียมในปริมาณ 55 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งอาหารที่มีซีลีเนียมสูง ได้แก่ ขนมปังโฮลวีท ธัญพืชนานาชนิด ข้าวกล้อง อาหารทะเล และเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน
- อาหารที่มีกรดโอเมก้า 3 งานวิจัยหลายเรื่องพบว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างมี่ความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าลดลงหากกินปลา โดยเฉพาะปลาที่มีกรดโอเมกา 3 อยู่ในปริมาณมาก เช่น ปลาแซลมอล นักวิจัยด้านโภชนาการพบว่ากรดโอเมก้า 3 มีผลการตอบสนองที่ดีต่ออาการเครียดอย่างโรคซึมเศร้าภายหลังคลอด นอกจากปลาแซลมอนแล้ว ปลาอื่นๆ ที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ที่ควรหามารับประทาน อาทิ ปลาแฮร์ริ่ง ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาเรนโบว์เทร้าท์ เป็นต้น
- วิตามินดี มีงานวิจัยมากมายที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างระดับของวิตามินดีกับความผิดปกติด้านอารมณ์ของมนุษย์พบว่า การขาดแคลนวิตามินดีนำไปสู่การเกิดโรคอารมณ์แปรปรวน 4 ประการ คือ อาการก่อนมีประจำเดือน อาการซึมเศร้าตามฤดูกาล โรคอารมณ์แปรปรวน และโรคซึมเศร้า อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี เช่น ไข่แดง เนยแข็ง ตับวัว หรือการยืนรับแสดงแดดสัก 20 นาทีต่อวัน ก็น่าจะทำให้ได้รับวิตามินดีที่พอเพียง
- ช็อกโกแลตวันละ 1 ออนซ์ (28 กรัม) ช็อกโกแลตที่แนะนำคือ ดาร์กช็อกโกแลต (dark chocolate) การกินดาร์กช็อกโกแลตจะช่วยเพิ่มสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารภายในร่างกายมนุษย์ที่หลั่งออกมาเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ทำให้มีจิตใจสดชื่อขึ้น เบิกบานเคลิบเคลิ้ม ซึ่งช่วยต่านอาการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ดาร์กช็อกโกแลตยังช่วยป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันอีกด้วย ทำให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ
นอกจากจะเลือกสรรอาหารดีๆ เป็นตัวช่วยเพื่อลดระดับความเครียดให้เหมาะสมแล้ว อย่าลืมที่จะฝึกบริหารอารมณ์และรู้จักปล่อยวางเสียบ้าง แค่นี้อารมณ์ดีๆ ก็ไม่หนีไปไหน