ทำอย่างไร...หัวใจและหลอดเลือดจึงจะดีไม่มีโรคภัย? ทุกคนต้องการมีหัวใจและหลอดเลือดที่ดี...แต่กลับไม่ได้สนใจดูแล ปรับวิถีชีวิตเพียงนิด รางวัลชีวิตไม่เพียงแค่ฝัน
1. เลิกสูบบุหรี่
ใช้วิธีต่างๆ เพื่อช่วยให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ เช่น ใช้แผ่นนิโคตินแปะผิวหนัง หมากฝรั่งนิโคติน การฝังเข็ม การทำสมาธิจิตบำบัด หรือพยายามสร้างแรงจูงใจต่างๆ โดยอาจปรึกษาแพทย์ หรือขอคำแนะนำจากเพื่อนฝูง หรือญาติมิตรที่ทำสำเร็จมาก่อน คิดไว้เสมอว่า ยิ่งสูบมากและนานเท่าใด ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น
2. ออกกำลังกาย
ออกกำลังกายแบบไม่หักโหม เช่น ทำสวน ทำงานบ้าน เดินเร็วๆ เต้นรำ หรือว่ายน้ำ ช่วงละ 15 นาที วันละ 2 ครั้ง สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งจะทำให้มีเหงื่อซึมออกมาและหายใจหอบเร็วขึ้นกว่าปกติ
3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
รับประทานอาหารสุขภาพ...ร่วมกับการออกกำลังกาย ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ชักชวนสมาชิกในครอบครัว ให้ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งเข้ากลุ่มควบคุมน้ำหนักเพื่อสร้างแรงจูงใจ
4. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน การรับประทานอาหารสุขภาพอย่างเคร่งครัด และรู้จักใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และโรคอื่นๆได้
5. ควบคุมความดันโลหิต
ลดน้ำหนักตัว ลดเกลือ และอาหารมันจัด หยุดสูบบุหรี่ และลดระดับความเครียด ถ้าเปลี่ยนวิถีชีวิตไม่สำเร็จก็จำเป็นต้องใช้ยาระยะยาว
6. ปรับเปลี่ยนอาหารการกิน
รับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว หรือไขมันต่ำแทนอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว กินผัก ผลไม้สดมากๆ
7. ลด ละ เลิกปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
ลด ละ เลิกปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละวัน และจำนวนของการดื่มต่อสัปดาห์...ไม่ดื่มเป็นประจำ
8. ลดความเครียด
เรียนรู้วิธีลดความเครียด โดยการผ่อนคลายและทำสมาธิอาจป้องกันไม่ให้เครียดเกินไป วางแผนทำงาน วางเป้าหมายที่เป็นไปได้และร่วมกิจกรรมต่างๆกับครอบครัว เช่น ดูแลลูกๆ ทำงานบ้าน และรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
9. ตรวจสอบสุขภาพที่จำเป็นพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอ
สุขภาพของท่านที่ควรจะต้องได้รับการประเมินเป็นระยะๆดังต่อไปนี้
- วัดระดับความดันโลหิตอย่างถูกต้องปีละ 4 ครั้ง
- ชั่งน้ำหนักปีละ 4 ครั้ง
- ตรวจวัดระดับน้ำตาล ไขมันผิดปกติ ได้แก่ ระดับโคเลสเตอรอล ฯลฯ หน้าที่ของไต ปีละครั้ง
ตระหนักถึงความเสี่ยง และรู้จักการป้องกัน
หัวใจที่แข็งแรงจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์ของคนทุกวัย ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยรุ่น วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ ต่างก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดสมองอัมพาตได้ทั้งสิ้น ในปัจจุบันแม้วิวัฒนาการของการรักษาโรคหัวใจจะก้าวหน้าไปมาก แต่ความรู้พื้นฐานในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทุกคนควรศึกษาหาความรู้ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การสูบบุหรี่ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน และที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และขจัดความเครียดในชีวิตประจำวันให้ลดน้อยลง ก็จะช่วยให้ทุกท่านห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากขึ้น
ที่มา : แผ่นพับสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
เอื้อเฟื้อแผ่นพับโดย : โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ถ้ารู้จักป้องกันตั้งแต่เนินก็คงจะไม่เสี่ยงใช่ไหมครับสุขภาพป้องกันได้ถ้าทุกคนใส่ใจ
จากบล็อก http://tonghealth.blogspot.com