เด็กอ้วน หมายถึง เด็กที่มีปริมาณไขมันอยู่ในร่างกายมากกว่าเกณฑ์ปกติ โดยดูความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักกับส่วนสูงเพื่อประเมินภาวการณ์เติบโตของเด็กไทย (กองโภชนาการ กรมอนามัย ปี 2543) เมื่ออ้วนจะก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพมากมาย
สาเหตุที่เด็กอ้วน
- กรรมพันธุ์
- กินจุบกินจิบไม่เป็นเวลา กินจุ
- ขาดการออกกำลังกาย
- มีพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ
โรคที่มักพบในเด็กอ้วน
โรคที่มักพบในเด็กอ้วนที่คุณคาดไม่ถึง คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญๆ ได้แก่
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจขาดเลือด
- โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
พฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม
- อาหารและโภชนาการ จากการรับประทานอาหารประเภทหวาน มัน เค็มมาก และรับประทานผักผลไม้น้อย
- การเลี้ยงดูเด็ก เด็กที่มีน้ำหนักมากมักมีนิสัยรับประทานอาหารเร็วและเคี้ยวอาหารน้อยกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติ
- การออกกำลังกาย เด็กอ้วนมีการใช้พลังน้อยกว่าเด็กทั่วไป การใช้ชีวิตแบบสะดวกสบาย การออกกำลังกายน้อยลง มีส่วนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนมากขึ้น
- กระแสความนิยมในสังคม การโฆษณาที่ใช้ดารานักร้อง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เด็กอยากเลียนแบบ เป็นปัจจัยทางอ้อมต่อการเกิดโรคอ้วน
ผลกระทบของโรคอ้วนต่อสุขภาพเด็ก
- กระดูกและข้อ ความผิดปกติของข้อเข่า ทำให้ขาโก่ง หรือขากางผิดปกติ
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- การหายใจ เนื่องจากไขมันที่สะสมอยู่ในผนังช่องอก ช่องท้องและกระบังลม ทำให้เด็กอ้วนร้อยละ 30-90 มีความผิดปกติของการหายใจขณะนอนหลับ
- ภาวการณ์ต่อต้านอินซูลิน เด็กอ้วนมีความผิดปกติของการเผาผลาญกลูโคส นำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2
- ขาดความมั่นใจ วิตกกังวล เกิดปมด้อย
- เด็กที่มีน้ำหนักเกินมีผลการเรียนต่ำกว่าเด็กที่มีน้ำหนักปกติ
- ครึ่งหนึ่งของเด็กอ้วนในวัยเรียน จะยังคงอ้วนเมื่อเป็นวัยรุ่น และหากยังอ้วนเมื่อเป็นวัยรุ่น โอกาสที่จะเป็นผู้ใหญ่อ้วนยิ่งสูงมาก
ปฏิบัติตัวอย่างไร ? ห่างไกลภัยอ้วน
- จัดกิจกรรมให้มีการเคลื่อนไหว ไม่นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี เล่นเกมส์ ควรใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เนตไม่เกิน 2 ชั่วโมง/วัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผักและผลไม้รสไม่หวาน
ที่สำคัญ : ผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างและช่วยดูแลเด็กในการปฏิบัติตัว “เพื่อเด็กวันนี้ มีสุขภาพดีในวันหน้า”
ที่มา : แผ่นพับสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
เอื้อเฟื้อแผ่นพับโดย : โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา