อาหารประเภทข้าวแป้ง
แม้จะเป็นการจำกัดโปรตีนลง แต่ร่างกายยังต้องการพลังงานอย่างเพียงพอในการทำกิจกรรมต่างๆ
เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสลายโปรตีนที่กินได้อย่างจำกัดมาเป็นแหล่งของพลังงาน
จึงต้องกินอาหารพวกข้าวแป้งให้เพียงพอด้วย เพื่อให้ร่างกายดึงพลังงานจากส่วนนี้มาใช้และควรได้จากอาหารประเภทข้าวแป้งมากกว่าน้ำตาล
เนื่องจากอาหารประเภทข้าวแป้งนี้เป็นแหล่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีส่วนประกอบของโปรตีนอยู่ด้วยประมาณ 1-2 กรัมต่อ 1 ทัพพี ดังนั้นจึงต้องระวังไม่กินอาหารประเภทข้าวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพราะอาจจะทำให้ได้โปรตีนมากเกินไป
โดยทั่วไปอาจกินข้าวแป้งรวมทั้งวันไม่ควรเกิน 6-7 ส่วนและให้ไปเพิ่มพลังงานจากกลุ่มอาหารพวกแป้งไม่มีโปรตีน ได้แก่ วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยว เซี่ยงไฮ้ สาคู ลอดช่องสิงคโปร์ ซ่าหริ่ม รวมมิตร แป้งข้าวโพด แป้งมัน
อาหารเหล่านี้สามารถกินได้โดยไม่ต้องคิดคำนวณปริมาณโปรตีน
อาหารกลุ่มไขมันและน้ำมัน
อาหารในกลุ่มยังสามารถรับประทานได้ ประมาณร้อยละ 30 ของพลังงานที่ควรได้รับ
แต่ควรระวังไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ อาทิ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ไข่ปลา ปลาหมึก หอย มันกุ้ง หนังสัตว์ทอดกรอบ ผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทแหนม ไส้กรอก แฮม เบคอน และไขมันทรานส์ อาทิเนย มาการีนหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเช่น พัฟ เค้ก คุ้กกี้ ถี่จนเกินไป
อาหารที่มีรสเค็มกินได้หรือไม่
อาหารประเภทนี้ทำให้กระหายน้ำ ดื่มน้ำมากขึ้น ผู้ป่วยไตเรื้อรัง ไตไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้ทำให้มีโซเดียมคั่งเกิดอาการบวมน้ำ ถ้ามีมากอาจทำให้น้ำท่วมปอดและความดันโลหิตสูงขึ้น อาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ อาหารที่ควรระวัง ได้แก่ การใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสหอยนางรม น้ำบูดู ซุปก้อน ผงปรุงรสต่างๆคนที่มีปัญหาเรื่องไต ต้องระวังไม่ใส่เครื่องปรุงรสต่างๆ มากในขณะประกอบอาหาร โดยทั่วไปเติมเกลือได้ครึ่งช้อนชาต่อวัน หรือเติมน้ำปลา ซีอิ้วรวมกันได้ไม่เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน และต้องไม่เติมเครื่องปรุงรสเหล่านี้เพิ่มในระหว่างการกินอาหาร
รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารว่างที่ออกรส เค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หมูยอ หมูหยอง อาหารสำเร็จรูป จำพวกโจ๊ก บะหมี่ วุ้นเส้น และขนมขบเคี้ยวต่างๆ
สำหรับเรื่องน้ำดื่ม ถ้ายังสามารถปัสสาวะได้ตามปกติ และไม่มีอาการบวม ก็ไม่ต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่ม ยังคงดื่มได้ 6-8 แก้วต่อวัน แต่ถ้ามีอาการบวมหรือเป็นอาการเรื้อรังระยะสุดท้าย ควรจำกัดน้ำดื่มโดยดื่มน้ำปริมาณเท่ากับปริมาณปัสสาวะต่อวันที่ขับออกมา
นอกจากนี้ คนเป็นโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ ช็อกโกแลต โคล่า เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีทั้งโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณค่อนข้างสูงด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ป่วยโรคไตเรื้อรังจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด กินยาอย่างสม่ำเสมอพบแพทย์ตามนัด และหากเจ็บป่วยไม่ควรซื้อยากินเองเนื่องจากยาบางชนิดส่งผลเสียต่อไตโดยตรงทำให้ไตเสื่อมยิ่งขึ้น
สำหรับอาหารประเภท ที่มีโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง คนเป็นโรคไตเรื้อรังในระยะแรกที่ยังไม่มีปัญหาว่ามีโพแทสเซียม และ/หรือฟอสฟอรัสในเลือดสูงอาจไม่จำเป็นต้องควบคุมก็ได้ เพราะไตยังสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ดีพอสมควรติดตามอ่าน “ โปแตสเซียมและฟอสฟอรัสกับไตเรื้อรัง”
อ้างอิงจาก ชนิดา ปโชติการ / โภชนบำบัดไตเรื้อรัง
เวชปฏิบัติสำหรับโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไตปี 2552
เรียบเรียงโดย พรพิศ เรืองขจร
นักวิชาการโภชนาการ ชำนาญการ 8 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์