อ่าน: 260

อาหารสัมพันธ์กับโรคเบาหวานอย่างไร

อาหารมีความสำคัญต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงหรือต่ำได้ เพราะอาหารที่เรารับประทานเข้าไป เช่น ข้าว แป้ง ขนมปัง จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำตาลในร่างกาย ดังนั้นหากเรารับประทานมาก ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเรารับประทานน้อย ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เราจึงต้องรับประทานอาหารให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือใกล้เคียงเกณฑ์ปกติมากที่สุด

ข้อควรปฏิบัติในการควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

อาหารที่ไม่ควรรับประทาน

  • ขนมหวาน และขนมเค้กต่างๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง กล้วยเชื่อม ฟักทองเชื่อม วุ้น ขนมชั้น ฯลฯ
  • ผลไม้รสหวานจัด เช่น เงาะ องุ่น ทุเรียน ขนุน อ้อย น้อยหน่า ละมุด ฯลฯ รวมทั้งผลไม้กระป๋อง
  • น้ำตาลชนิดต่างๆ เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลก้อน น้ำผึ้ง น้ำตาลแว่น น้ำตาลโตนด ฯลฯ
  • เครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ผลไม้กวน ผลไม้เชื่อม ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้ดอง ฯลฯ

อาหารที่รับประทานได้แต่ต้องจำกัดปริมาณ

  • ผลไม้ต่างๆ เช่น สับปะรด แตงโม กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ส้มเขียวหวาน ฯลฯ
  • ธัญพืช ได้แก่ ข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ วุ้นเส้น มันฝรั่ง ขนมจีน เผือก มัน ขนมปังปอนด์ ข้าวโพด มันแกว ขนมปังกรอบแบบจืด ฯลฯ
  • ผักประเภทหัว จะมีปริมาณแป้งและน้ำตาลมาก เช่น ฟักทอง แครอท ถั่วฝักยาว หัวผักกาดขาว สะตอ ยอดมะพร้าว สะเดา หอมใหญ่ ถั่วแขก ใบขี้เหล็ก ลูกเนียง ฯลฯ
  • เนื้อสัตว์ สามารถกินได้ทุกชนิด แต่ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก เช่น หมูสามชั้น หนังเป็ด หนังไก่ แฮม ไส้กรอก ปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาสวาย ปลาดุก ปลาซาบะ ฯลฯ
  • น้ำนม เป็นอาหารที่ให้พลังงาน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรกินนมพร่องไขมัน ไม่ควรกินนมรสหวาน นมที่แต่งกลิ่นรสต่างๆ เช่น รสช็อกโกแลต รสสตรเบอรี่ เพราะมีส่วนประกอบของน้ำตาลอยู่ ควรกิน 1 แก้ว หรือ 1 กล่องต่อวัน ยกเว้น ผู้ที่ต้องการพลังงานมากกว่าปกติอาจจะกินได้ 2-3 กล่องต่อวัน
  • ถั่วเมล็ดแห้ง เช่นถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ยกเว้น ถั่วลิสง เพราะมีน้ำมันมาก
  • ไขมัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานมากที่สุด วันหนึ่งๆกินได้ 1-2 ช้อนโต๊ะ ควรกินไขมันจากพืชมากกว่าไขมันจากสัตว์

อาหารที่รับประทานได้โดยไม่จำกัดปริมาณ

  • ผักประเภทใบต่างๆ เนื่องจากมีปริมาณแป้งและน้ำตาลน้อย เช่น ผักคะน้า ตำลึง บวบ ฟักเขียว ผักบุ้ง กะหล่ำปลี กวางตุ้ง แตงกวา ผักกาดหอม ผักโขม มะเขือต่างๆ หน่อไม้ ฯลฯ ปัจจุบันอาหารเบาหวานเน้นให้มีการกินใยอาหารมากขึ้น จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าจะทำให้ระดับน้ำตาลและโคเลสเตอรอลในเลือดลดลง
  • เครื่องปรุงรส เช่น พริกไทย เครื่องเทศ น้ำส้มสายชู น้ำซุปใส วุ้นไม่ใส่น้ำตาล ชา กาแฟ ไม่ใส่นม น้ำตาล ข่า ตะไคร้ พริกขี้หนู กระเทียม ฯลฯ

การควบคุมอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

  • ให้กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ลดปริมาณอาหารลง
  • กินอาหารทุกมื้อ แต่ลดพลังงานในอาหารแต่ละมื้อ ควรเลือกอาหารที่ให้พลังงานน้อย เช่น ผักต่างๆ เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ฯลฯ
  • ลดปริมาณพลังงานในอาหารลงทีละน้อย กินข้าว หรืออาหารพวกแป้งแต่พอสมควร
  • งดอาหารที่มีไขมันมาก เช่น เนื้อติดมัน อาหารทอดต่างๆ กะทิ ควรเตรียมอาหารโดยวิธีต้ม นึ่ง ย่าง
  • งดอาหารที่มีน้ำตาลมาก เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม ผลไม้หวานจัด ฯลฯ
  • กินอาหารที่ให้พลังงานน้อย เช่น ผักประเภทใบให้มากขึ้น
  • อาหารทุกมื้อควรมีเนื้อสัตว์เพียงพอ
  • เมื่อน้ำหนักลดลงในระดับที่ต้องการแล้ว ต้องรักษาน้ำหนักที่ต้องการให้คงที่

หัวใจของการควบคุมอาหาร คือ ต้องมีความสม่ำเสมอในการกิน ทั้งในเรื่องของปริมาณอาหาร และเวลารับประทานอาหาร

ข้อมูลจาก: งานโภชนาการ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

: กาย
:
: สุขภาพดี

Share |
จริญญา 14 มี.ค. 2553 15 มี.ค. 2553
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย