เบาหวานคืออะไร
เบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 mg/dl เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ
สาเหตุที่ทำให้เกิดเบาหวาน
การที่ร่างกายจะนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้ได้มีความจำเป็นต้องอาศัยฮอร์โมนจากตับอ่อนชื่อ อินซูลิน เป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสในเลือดเข้าไปในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ หากขาดฮอร์โมนอินซูลิน ก็จะทำให้มีน้ำตาลในเลือดเหลือค้างอยู่มากกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินออกมาได้เพียงพอ หรือสร้างไม่ได้เลย หรือสร้างได้แต่อินซูลินนั้นออกฤทธิ์ไม่ดี
ประเภทของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ
- เบาหวานประเภทที่ 1 ร่างกายจะขาดอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ มักเกิดในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี และผู้ป่วยมักมีรูปร่างผอม
- เบาหวานประเภทที่ 2 ตับอ่อนยังสามารถผลิตอินซูลินได้ปกติหรืออาจจะน้อยหรือมากกว่าปกติ แต่อินซูลินที่มีอยู่ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี มักเกิดในคนอายุมากกว่า 40 ปี และผู้ป่วยมักมีรูปร่างอ้วน
อาการและสัญญาณบ่งบอกของเบาหวาน
อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มักพบบ่อย คือ ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก คอแห้ง กระหายน้ำและดื่มน้ำมาก น้ำหนักลดหิวบ่อยกินจุ
โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน
โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของการเป็นเบาหวาน นอกจากนี้ยังขึ้นกับพันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ความอ้วนและการออกกำลังกาย
- โรคแทรกซ้อนทางตา ที่พบบ่อยคือ ต้อกระจกและตาบอด โดยผู้ที่เป็นเบาหวานมีโอกาสตาบอดมากกว่าคนปกติ 20 เท่า
- โรคแทรกซ้อนทางไต อาจเกิดไตพิการหรือไตวายเรื้อรังได้ โรคแทรกซ้อนทางระบบประสาท ที่พบบ่อยคือ ระบบประสาทส่วนปลายเสื่อม โดยเฉพาะบริเวณเท้า การสูญเสียการรับรู้เหล่านี้ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เท้าได้ง่าย และผู้ป่วยมักละเลยบาดแผลที่เกิดขึ้น เพราะไม่รู้สึกเจ็บ
- โรคแทรกซ้อนของหัวใจและหลอดเลือดแดง เช่น เส้นเลือดแดงตีบแข็ง ก่อให้เกิดปัญหากับอวัยวะที่เส้นเลือดนั้นไปหล่อเลี้ยง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แขนขาอ่อนแรง ปวดขาเวลาเดิน
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
การดูแลสุขภาพร่างกาย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำกว่าปกติ จึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนอาจต้องสูญเสียอวัยวะได้ แนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเบาหวานมีดังนี้
- นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงความเครียดทางอารมณ์ เพราะจะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยคุมระดับน้ำตาล
- การควบคุมอาหาร โดยหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารที่มีไขมันจากสัตว์ (เช่น น้ำมันปาล์ม กะทิ) อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง (เช่น เครื่องใน ไข่แดง นมเนย) อาหารและผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น ทุเรียน ขนุน ละมุด หรือผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กวน ผลไม้เชื่อม ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้กระป๋อง และควรรับประทานอาหารที่มีวิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารให้มากขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักตัว อย่าปล่อยให้อ้วนเพราะจะทำให้คุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเหล้า
- ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งและพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอแม้จะรู้สึกสบายดี
การป้องกันไม่ให้เกิดแผล โดยควรปฏิบัติดังนี้
- ล้างเท้าทุกวันด้วยสบู่อ่อนและไม่แช่เท้านานเกิน 5 นาที
- เช็ดเท้าเบาๆด้วยผ้านุ่ม อย่าให้อับชื้น
- ตัดเล็บด้วยความระมัดระวัง โดยตัดเป็นเส้นตรงและใช้ตะไบถูให้เรียบกับเนื้อ อย่าตัดสั้นเกินไป
- หากเท้าแห้งควรทาครีม
- ไม่เดินเท้าเปล่า แม้ว่าจะเป็นในบ้าน
- เปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน ควรเลือกถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้ายเพราะระบายอากาศได้ดี
- เลือกรองเท้าที่มีขนาดเหมาะสมไม่ควรคับเกินไป ควรเป็นรองเท้าหนัง รองเท้าใหม่ให้ลองใส่วันละ 1-2 ชั่วโมงก่อน
- สำรวจเท้าทุกวันว่ามีบาดแผล รอยช้ำหรือไม่
- ออกกำลังกายบริเวณขาและเท้าอย่างสม่ำเสมอ
- ปรึกษาแพทย์ทันทีที่มีบาดแผลที่เท้า เล็บขบ หรือมีอาการปวดบวมที่เท้า
ที่มา
ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก
คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดีดี จริงๆๆๆเลยค่ะ
สำหรับการแนะนำ
เกี่ยวกับโรค
สาระดีมาก