อาการระยะที่1
ประมาณ 1-3 วันแรกของโรค อาจนานถึง 5-6 วัน มีอาการไข้สูงเฉียบพลัน 38-40 องศาเซลเซียส อ่อนเพลียเบื่ออาหาร อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
การปฏิบัติตัว
- เช็ดตัวเพื่อลดไข้ อาจให้ยาพาราเซตามอล ถ้าไข้สูงมาก
- ดื่มน้ำ/ น้ำผลไม้/ น้ำเกลือแร่/ น้ำหวาน เพื่อลดอาการอ่อนเพลีย ถ้าได้น้ำพอจะปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะใสไม่เข้ มปริมาณน้ำที่ควรได้รับตามน้ำหนักตัวคือ
น้ำหนักตัว 10 กก. ดื่มนมและน้ำรวมกันอย่างต่ำวันละ 4-5 แก้ว
น้ำหนักตัว 15-20 กก. ดื่มน้ำรวมกันอย่างต่ำวันละ 5-6 แก้ว
น้ำหนักตัว 20-40 กก. ดื่มน้ำรวมกันอย่างต่ำวันละ 6-8 แก้ว
- ถ้าเด็กขาดน้ำจะสังเกตได้จากริมฝีปากแห้งมาก ปัสสาวะน้อย มีสีเข้ม ถ้ามีอาการเช่นนี้ ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายแพทย์อาจนัดผู้ป่วยมาดูอาการซ้ำ เพื่อตรวจเลือดและปัสสาวะ
หมายเหตุ : การตรวจเลือดในระยะ 1-3 วันแรกของไข้ อาจจะยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ชัดเจน
อาการระยะที่ 2
ระยะอันตรายใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ไข้เริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยยังมีอาการอ่อนเพลีย ซึมลง บางรายมีอาการปวดท้องมาก หรือมีถ่ายอุจจาระเหลวสีดำ หรืออาเจียนมีน้ำสีดำหรือเลือดปน อาจมีจุดเลือดออกจากผิวหนัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 สามารถกินน้ำและอาหารได้พอสมควร ไม่อ่อนเพลียมาก แต่มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 ที่เพลียมาก และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้ตรวจและแนะนำการตรวจเลือดในระยะนี้มักสามารถให้การ วินิจฉัยได้
การปฏิบัติตัว
- ให้การดูแลเหมือนระยะที่ 1 และพามาพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจความเข้มข้นของเลือดและเกร็ดเลือด และ ปัสสาวะ
- วัดความดันโลหิตและชีพจร แพทย์จะเป็นผู้แนะนำว่าผู้ป่วยรายใด ควรรักษาในโรงพยาบาล
อาการระยะที่ 3
ระยะฟื้นไข้ หลังจากผู้ป่วยไข้ลง 48 ชั่วโมงแล้ว มักมีผื่นแดงขึ้นตามแขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และคัน อาการทั่วไปจะดีขึ้น มีความอยากอาหารมากขึ้น และปัสสาวะมากขึ้น
การปฏิบัติตัว ผื่นค่อย ๆ หายได้เองอย่างรวดเร็วใน2-3 วัน ถ้าคันมาก อาจปรึกษาแพทย์ แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ตามปกติ
ข้อมูลจาก
ภาควิชาอายุรศาสตร์
หน่วยควบคุมการติดเชื้อ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์