ยาพ่นสูดเข้าลำคอ
ยาพ่นสูดมีข้อดี คือ ยาถูกนำส่งโดยตรงไปยังตำแหน่งที่ออกฤทธิ์ ปริมาณยาที่ใช้น้อยลง จึงลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ถ้าให้ยาในรูปของยารับประทานหรือยาฉีด แต่การใช้ยาพ่นสูดจะให้ผลการรักษาตามที่มุ่งหวัง ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเข้าใจขั้นตอนของการใช้ยาจนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง การพ่นสูดยาให้ร่างกายได้รับปริมาณยาที่ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งจำเป็นมาก เนื่องจากโรคที่ใช้ยาพ่นสูด มักเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เช่น โรคหืด
ยาพ่นสูดเข้าลำคอมีหลายรูปแบบ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเพียงรูปแบบเดียว คือ ยาพ่นอัดไอ (Metered Dose Inhaler)
ขั้นตอนการใช้ยาพ่นสูด
- เปิดฝาครอบปากขวดยาพ่นออก คว่ำขวดพ่นลง ตั้งขวดพ่นให้ตรง ใช้นิ้วโป้งจับด้านล่าง นิ้วชี้จับด้านบนตรงที่กดยา
- เขย่าขวดพ่นยาขึ้นลง 5-6 ครั้ง
- หายใจออกให้สุดเต็มที่
- อ้าปากให้ปากขวดยาพ่นอยู่ที่ระดับของช่องปาก เอียงศีรษะไปทางด้านหลัง
- เริ่มหายใจเข้าช้าๆทางปาก แล้วกดหลอดยาพ่น 1 ครั้ง พร้อมกับหายใจเข้าให้ลึกๆ ตัวยาจะเข้าสู่หลอดลมพร้อมกับลมหายใจ
- เอาขวดพ่นยาออกจากปากและปิดปากให้สนิท กลั้นหายใจอย่างน้อย 10 วินาที (นับ 1 ถึง 10) แล้วจึงผ่อนลมหายใจออกทางจมูกอย่างช้าๆ
ข้อแนะนำการใช้ยาพ่นสูด 2 ชนิด
กรณีผู้ป่วยต้องใช้ยาพ่นสูดเข้าลำคอพร้อมกัน 2 ชนิด เช่น ยาขยายหลอดลมและยาสเตียรอยด์ ต้องเว้นระยะในการพ่นยาแต่ละชนิด โดยใช้ยาขยายหลอดลมก่อน เว้นระยะอย่างน้อย 5 นาที จึงค่อยใช้ยาสเตียรอยด์
ยาพ่นชนิดที่ 1 ——>ยาพ่นชนิดที่ 2
ยาขยายหลอดลม เว้นระยะ 5 นาที ยาพ่นสเตียรอยด์
คำแนะนำเพิ่มเติม
- ก่อนใช้ ผู้ป่วยควรฝึกซ้อมการหายใจทางปากก่อน โดยสูดลมหายใจเข้าออกช้าๆลึกๆ จนชำนาญ
- ผู้ป่วยอาจทดลองพ่นยาหน้ากระจก ถ้าขณะที่พ่นมีไอระเหยของละอองยารอบปาก แสดงว่าไม่ถูกต้อง
- ถ้าผู้ป่วยมีเสมหะ ก่อนพ่นยาควรกำจัดเอาเสมหะออกจากลำคอก่อน
- หลังพ่นยาเสร็จเรียบร้อย กลั้วภายในปากและคอด้วยน้ำสะอาด เพื่อลดอาการปากคอแห้ง ช่วยลดการเกิดเชื้อราในช่องปาก และการกิดเสียงแหบ โดยเฉพาะจากการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์
- ยาพ่นที่เป็นยาขยายหลอดลมเท่านั้น ที่สามารถใช้กับอาการหอบฉับพลันได้ ส่วนยาพ่นที่เป็นยาสเตียรอยด์และยาอื่นๆ ไม่สามารถขยายหลอดลมได้ ใช้สำหรับป้องกันอาการในระยะยาว และใช้เวลา 1-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลเต็มที่ ดังนั้นจึงควรใช้ยาพวกนี้ตามแพทย์สั่ง อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
- ถ้าต้องพ่นยาซ้ำ ให้รออย่างน้อย 30 วินาทีแล้วเริ่มทำซ้ำ ปิดฝาขวดยาหลังใช้ทุกครั้ง
- กรณีที่มีอาการหอบ และใช้ยาพ่นเพื่อขยายหลอดลมแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือต้องใช้ยาพ่นบ่อยครั้งมากขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์
- เมื่อใช้ยาหมดแล้วไม่ควรทุบขวดหรือเผาไฟ เพราะอาจทำให้ขวดระเบิดได้
- การลืมพ่นยาให้พ่นทันทีที่นึกขึ้นได้ และพ่นครั้งต่อไปตามปกติ แต่ถ้านึกขึ้นได้ในระยะเวลาที่ใกล้กับเวลาของการพ่นครั้งต่อไป ให้พ่นครั้งต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดการพ่นเป็น 2 เท่า
ที่มา
สถานปฏิบัติการเภสัชชุมชน
คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์