เด็กเล็กๆมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย และบ่อยเพราะระบบการต้านทานโรคยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์และภูมิคุ้มกันโรคที่เด็กเคยได้รับจากมารดาขณะที่อยู่ในครรภ์หมดไป ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
การป้องกันเด็กไม่ให้เจ็บป่วยง่าย คือ หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปชุมชนที่แออัด รักษาความสะอาดของร่างกาย ให้ความรักความอบอุ่นอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ควรให้เด็กดื่มนมมารดาให้นานที่สุด เพื่อให้เด็กได้รับภูมิคุ้มกันครบชนิดและขนาด
หากเด็กไม่สบายจนต้องใช้ยา ยาที่ใช้กับเด็กส่วนใหญ่จะเป็นยารับประทานชนิดน้ำ หรือชนิดผงละลายน้ำซึ่งจะต้องป้อน
การป้อนยาเด็ก ต้องใช้เทคนิคหลายประการที่จะทำให้เด็กไม่ร้องดิ้นจนยาหก หรือเกิดการสำลักยา หรือเด็กบางคนอาเจียน ทำให้ไม่ได้รับประทานยาและยังอาเจียนเอานม หรืออาหารที่รับประทานเข้าไปก่อนออกมาด้วย
การให้ยาเด็ก
- ยารสจัด เมื่อรินขนาดตามสั่งแล้ว ควรเจือจางด้วยน้ำก่อน
- เด็กที่รับประทานยายาก อย่าพยายามกรอกยาใส่ปากขณะเด็กอ้าปากร้องไห้ เพราะอาจสำลักได้ และอย่าบีบจมูกเด็กเพื่อให้เด็กอ้าปากแล้วกรอกยา อาจสำลักยาถึงตายได้
- ไม่ควรผสมยากับน้ำนม เพราะถ้าเด็กดื่มนมไม่หมด จะทำให้ไม่ได้ยาตามจำนวนที่ต้องการและยังทำให้เด็กไม่ยอมดื่มนมอีกด้วย
- พยายามใช้ช้อนมาตรฐานป้อนยา เพื่อให้จำนวนยาที่ได้รับตรงตามขนาด คือ 1 ช้อนมาตรฐาน=5 มิลลิลิตร 1 ช้อนโต๊ะมาตรฐาน=15 มิลลิลิตร =3 ช้อนชามาตรฐาน
- เด็กที่พยายามป้อนแล้วอาเจียนทุกครั้ง ควรหยุดยาเพราะจะทำให้เด็กอาเจียนนม และอาหารออกมาด้วย ควรพาไปพบแพทย์
- เด็กที่เคยแพ้ยา บิดามารดาต้องจำชื่อยาไว้และบอกให้แพทย์ทราบทุกครั้ง
- ขนาดยาที่ใช้ในเด็ก ไม่ใช่ครึ่งหนึ่งของขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ต้องคำนวนจากน้ำหนักของตัวเด็ก จึงจะเป็นขนาดที่แน่นอน
- ยารสหวาน หรือเด็กที่รับประทานยาง่ายต้องระมัดระวังเป็นพิเศษว่าเด็กจะหยิบยารับประทานเอง
- เด็กที่ไปโรงเรียน ถ้าเป็นเด็กเล็กควรนำยามอบให้ครูไว้ เพื่อให้เด็กได้รับยาต่อเนื่อง เด็กโตสามารถเก็บไว้เองได้แต่ต้องกำชับไม่ให้ลืม
- ยาเม็ดเหมือนกัน หรือยาน้ำสีเดียวกันอาจไม่ใช่ยาชนิดเดียวกัน ห้ามรับประทานยาโดยไม่ทราบชื่อ
- ยารักษาอาการติดเชื้อ (ยาแก้อักเสบ) ต้องรับประทานให้หมดขวด แม้ว่าอาการเด็กจะหายแล้ว
- ถ้าเด็กกินยาเม็ดได้ ควรให้กินยาเม็ดดีกว่า ยาเม็ดถูกกว่ายาน้ำ และพกสะดวกกว่า
- ยาบางชนิดไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก เช่น ยาพวกซัลฟาและยาคลอแรมเฟนิคอลไม่ควรให้ในเด็กแรกเกิด และยาเตตร้าซัยคลีนไม่ควรใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ
- อย่าใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด
- เด็กโตที่มีอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป อาจให้ยาในขนาดเท่ากับผู้ใหญ่ แต่ต้องไม่มากกว่า
ที่มา
ฝ่ายเภสัชกรรม
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
หลักการนี้แม่ต้องมั่นใส่ใจน๊ะค่ะ