พ่อแม่หลายคนมักจะกังวลกับการที่ลูกไม่ยอมรับประทานอาหาร รับประทานอาหารน้อย หรือรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วน ไม่ยอมรับประทานผักผลไม้ที่มีประโยชน์ ส่งผลให้มีภาวะทางโภชนาการที่บกพร่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กได้
สำหรับวิตามินที่จะช่วยให้เด็กรับประทานอาหารรับประทานอาหารได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์เนื่องจากไม่ค่อยรับประทานอาหารและนม จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลในตำราทางโภชนศาสตร์พบว่ามีการระบุว่ามีวิตามินบางชนิดสามารถช่วยในการเจริญอาหารได้นั้น ได้แก่ วิตามินบี 1 มีฤทธิ์ทำให้ช่วยเจริญอาหาร และวิตามินบี 12 มีฤทธิ์กระตุ้นการเจริญเติบโตในเด็ก โดยในเด็กที่ด้อยพัฒนาการ และเด็กขาดสารอาหาร มักมีการขาดวิตามิน บี12 และวิตามินอย่างอื่นร่วมด้วย เมื่อให้วิตามิน บี12 จะเพิ่มความอยากอาหาร กินอาหารได้มากขึ้น แต่ในเด็กที่เจริญเติบโตเป็นปกติ ไม่ขาดวิตามินนี้ การให้วิตามิน บี12 จึงไม่มีผล
การที่จะให้วิตามินเสริมเพื่อช่วยให้เด็กเจริญอาหาร รับประทานอาหารได้มากขึ้น อาจให้ในรูปที่เป็นวิตามิน บีรวม (Vitamin B complex) หรือวิตามินรวม (Multivitamins) ซึ่งจะช่วยเสริมวิตามินอื่นๆ ที่เด็กไม่ค่อยรับประทานอาหารและนมซึ่งอาจมีภาวะของการขาดวิตามินได้
เด็กที่ควรได้รับวิตามินเสริม ได้แก่ เด็กที่มักรับประทานอาหารตามใจชอบ ซึ่งมักจะได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังไม่ยอมรับประทานผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์บางชนิด จึงเป็นสาเหตุให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน รวมไปถึงเด็กกำลังพักฟื้นหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งนี้เพราะร่างกายต้องการสารอาหารวิตามินเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ หรือเสริมสร้างภูมิต้านทาน หรือหากเด็กมีโรคประจำตัวบางโรคอาจทำให้มีความต้องการวิตามินบางชนิดมากกว่าปกติ หรืออาจจะรับประทานยาบางประเภทที่ทำลายหรือรบกวนการดูดซึมวิตามินและเกลือแร่ในร่างกายจึงอาจต้องพิจารณาให้วิตามินเสริมแก่เด็กเหล่านี้
อย่างไรก็ตามการให้วิตามินเสริมนั้นเป็นเพียงการเติมเต็มอาหารที่เด็กควรรับประทานตามปกติเท่านั้น วิตามินเสริมไม่สามารถทดแทนสารอาหารหลากหลายชนิดที่เด็กจะได้รับจากแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ดังนั้นขณะที่เด็กรับประทานวิตามินเสริม ควรพยายามให้เด็กรับประทานอาหารหลัก ผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ควบคู่ไปด้วยเสมอ เพื่อให้ได้รับกากใยอาหารและสารประกอบวิตามินต่างๆ ที่วิตามินเสริมไม่มี แต่ทั้งนี้การให้วิตามินเสริมควรคำนึงถึงปริมาณที่ได้รับด้วย โดยทั้งนี้ไม่ควรเกิน 100% ของปริมาณอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับแต่ละช่วงอายุด้วย เนื่องจากจะได้รับจากการรับประทานอาหารปกติอีกด้วย และการได้รับวิตามินบางชนิดที่มากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
ตารางแสดงปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (DRIs): ปริมาณวิตามินที่แนะนำสำหรับเด็กในช่วงวัยต่างๆ
เอกสารอ้างอิง
นุช ภิรมย์ และเอื้อมพร สกุลแก้ว. Vitamin for kid วิตามินสำหรับเด็ก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ใกล้หมอ. 2548
Peckenpaugh NJ, and Poleman CM. Chapter 5: Food as the Source of Vitamins, Minerals,
Phytochemicals, and Water. In Nutrition Essentials and Diet Therpy. 8th ed. Philadelphia: W.B. Saunders Company. 1999.
โพยม วงศ์ภูวรักษ์. บทที่2 ความต้องการพลังงานและความต้องการสารอาหาร. ใน การให้อาหารทางหลอดเลือดและการให้อาหารทางสายยาง. สงขลา: ภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2549
เอกสารประกอบการฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม หลักสูตรการบริบาลเภสัชกรรม (รุ่นที่ 1) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา. 2550
ตอนเด็กๆ เป็นคนที่กินยากและเลือกกินมาก
ทำให้คุณแม่ต้องปวดหัวอยู่บ่อยๆ
ถึงขนาดต้องจ้างให้กินข้าว กินไข่ กินนมเลยค่ะ