ยาอมใต้ลิ้นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ ยาในกลุ่มไนเตรต ได้แก่ ไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) และไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate) เพื่อรักษาอาการเจ็บเค้นหน้าอก ที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เนื่องจากการตีบแคบของหลอดเลือด ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ
เมื่ออมยาใต้ลิ้น ยาจะละลายออกมาและถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วผ่านเยื่อเมือกในช่องปากเข้าสู่กระแสเลือด โดยแทบจะไม่ผ่านระบบทางเดินอาหาร ยาจึงออกฤทธิ์เร็วกว่า และขนาดยาที่ใช้น้อยกว่ายาชนิดรับประทาน
ยาอมใต้ลิ้นจะออกฤทธิ์ได้ภายใน 2-5 นาที ขณะที่ยาเม็ดรับประทานจะออกฤทธิ์ภายใน 20-45 นาที
ขั้นตอนการใช้ยาอมใต้ลิ้น
- เมื่อมีอาการปวดหน้าอก แน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอก ให้นั่งหรือนอนลง
- อมยา 1 เม็ดไว้ใต้ลิ้น โดยปล่อยให้ยาละลายจนหมด ห้ามเคี้ยว ห้ามกลืนทั้งเม็ด ห้ามบ้วนหรือกลืนน้ำลาย
- อาการจะดีขึ้นหลังจากอมยาไปแล้ว 5 นาที ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ให้อมยาซ้ำได้อีก 1 เม็ด ถ้าอาการยังไม่ดีหลังจากอมยาเม็ดที่สอง ให้อมยาเม็ดที่ 3 เมื่ออมยาครบ 3 เม็ด ในเวลา 15 นาที (ห่างกันเม็ดละ 5 นาที) แล้วยังไม่หายอีก ให้รีบมาโรงพยาบาล
- อาจอมยานี้เพื่อป้องกันการเกิดอาการก่อนทำกิจกรรมที่คาดว่าจะทำให้มีอาการ 5-10 นาที
คำแนะนำอื่นๆ
- ให้อมเม็ดยาไว้ใต้ลิ้น ห้ามเคี้ยว บดหรือกลืนยาเม็ดอมใต้ลิ้น
- ไม่ควรรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่ ระหว่างที่ยาอมใต้ลิ้นกำลังละลาย
- การทดสอบประสิทธิภาพของยาอมใต้ลิ้น เมื่อนำยาอมใต้ลิ้นมาแตะลิ้น หากรู้สึกเผ็ดซ่า แสดงว่ายายังสามารถนำมาใช้ได้
หมายเหตุ : สำหรับยาอมใต้ลิ้น Isosoribide จะไม่มีความซ่าหรือร้อนเมื่ออม
- ควรงดดื่มชา กาแฟ หรือออกกำลังกายหลังรับประทานเสร็จใหม่ๆ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้
การเก็บรักษายา
เนื่องจากยาอมใต้ลิ้นกลุ่มไนเตรต มีการสลายตัวได้ง่าย เมื่อสัมผัสกับแสง อากาศ ความร้อน และความชื้น ดังนั้นควรเก็บยาคำแนะนำต่อไปนี้
- เก็บในภาชนะปิดสนิท และป้องกันแสง (ขวดสีชา)
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดด อากาศ และความชื้น
- ไม่ควรเก็บยาในที่ชื้น เช่น ห้องครัว ห้องน้ำ
- ไม่ควรเก็บยาไว้นานเกินไป หรือเก็บยาจนหมดอายุ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
ที่มา
สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน
คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์