ในปี พ.ศ. 2544 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า โรคอ้วนเป็นโรคระบาดมีคนทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคนเป็นโรคอ้วน ในปี 2547 องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ป่วยเป็นโรคอ้วนสูงถึง 17.6 ล้านคน ดังนั้น กองการแพทย์ เทศบาลนครภูเก็ต จึงได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง นักเรียน ครูในโรงเรียนและผู้ที่สนใจ ในหัวข้อ เด็กไทยยุคใหม่ใส่ใจสุขภาพ : เท่สมวัย เด็กไทยเลือกได้ ด้วย 3 อ วันอาทิตย์ ที่ 3 กรกฎาคม 2551 ณ ห้องจามจุรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน โดยวิทยากรกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พ.ญ.สุนทรี รัตนชูเอก สรุปสาระการอบรมในการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพดีได้ดังนี้
องค์ประกอบในการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพดี
อาหารกาย : ปัจจัย ๔
อาหาร 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ได้จากแป้ง,น้ำตาล โปรตีน ได้จากเนื้อสัตว์ ไข่,ถั่ว ไขมันได้จากน้ำมัน-มันสัตว์ เกลือแร่และวิตามิน ได้จากผักและผลไม้ รวมทั้งน้ำ ควรกินอาหารครบทั้ง 5 หมู่ หลากหลายและพอเหมาะ ทารกในครรภ์ได้อาหารจากแม่ ดังนั้นการกินอาหารและสุขภาพแม่จะกำหนดน้ำหนักแรกคลอดของทารก ซึ่งอาหารที่ดีที่สุดของทารกคือนมแม่ ซึ่งปริมาณเพียงพอสำหรับ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นควรได้อาหารเสริม ที่อายุ 1 ปี ทารกจะกินข้าวเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ และนมวันละ 2-3 แก้ว เพื่อเสริมแคลเซียมสำหรับการเติบโตของกระดูกและฟัน การได้รับอาหารเพียงพอและเหมาะสมช่วยให้เด็กเจริญเติบโตสมวัย มีพัฒนาการปกติร่างกายแข็งแรงสุขภาพดี
อาหารสมอง : การศึกษา-เรียนรู้
อารมณ์ที่ดี เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูที่เหมาะสมทั้งกายและใจ ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
อาหารใจ : ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ธรรมะ
ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ ทั้งครอบครัว
สาเหตุของโรคอ้วน
- กินอาหารเกินพอ – รสหวาน,ไขมันสูง
- ไม่ออกกำลังกาย – ขาดกิจกรรม,เก็บเป็นไขมัน
- อ้วนเป็นทีม – มีพ่อ,แม่อ้วน, 30-80%
- อารมณ์เสีย – เอาแต่กินนอน,ขาดกิจกรรม
- สิ่งแวดล้อมเป็นใจ – มีขนมสารพัด อยู่แต่ในบ้าน
อ้วน...เกิดโรคแทรกซ้อนอย่างไร
ปัญหาอ้วน น้ำหนักตัวมากส่งผลให้เกิดปัญหาของกระดูก ข้อ ผิวหนัง มีการหายใจลำบาก นอนกรน
มีอาการหยุดหายใจเวลานอน เด็กอ้วนมักขาดความเชื่อมั่น มีปัญหาทางจิตใจ สังคม อารมณ์
ปัญหาเมตาโบลิซึ่ม ที่มีความผิดปกติทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เก้าท์ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
การรักษาโรคอ้วนในเด็ก
- ควบคุมอาหาร ให้ครบถ้วนเพียงพอ ลดของทอด, มันๆ, น้ำหวาน ดื่มนมจืดหรือนมพร่องมันเนยในเด็กอ้วน > 2 ปี ลดนมเปรี้ยว, นมรสหวาน, น้ำผึ้ง, นมถั่วรสหวาน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที
- ปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมทั้งครอบครัว เช่น ลดกินอาหารนอกบ้าน ทิ้งขวดนมเมื่อเด็ก 2 ขวบ ไม่ตุนขนมหวานในบ้าน
โรคอ้วนป้องกันได้ด้วยการสร้างสุขนิสัยการกินที่ดี โดยกินอาหารเป็นอาหารไม่กินจุบจิบ ไม่บังคับให้กินเมื่อเด็กกลัวอาหารที่ไม่คุ้นเคย สร้างมารยาทในการกิน โดยนั่งกินพร้อมกันไม่เดินไป-มา สร้างวุฒิภาวะเหมาะสมโดยให้เด็กมีสิทธิ์เลือกกินอาหาร ไม่ทำอาหารเพิ่มตามใจ จัดอาหารให้หลากหลาย ทั้งนี้ทุกคนมีส่วนร่วมส่งเสริมเด็กไทยให้มีสุขภาพดี
โรคอ้วนเป็นโรคระบาดหากไม่ช่วยกันดูแลตนเองแม้แต่พรุ้งนี้ก็จะสายเกินไป.....
เรียบเรียงโดย: น.ส.สิริลักษณ์ อิ่มแย้ม
กองการแพทย์ เทศบาลนครภูเกต