อ่าน: 2143
Small_font Large_font

Antihistamines (ยาต้านฮิสตามีน)

คำอธิบายพอสังเขป

ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) ใช้สำหรับบรรเทาอาการหรือป้องกันไข้ละอองฟาง (hay fever) และการแพ้ชนิดต่างๆ ออกฤทธิ์โดยป้องกันผลของสารที่เรียกว่าฮิสตามิน (histamine) ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายในร่างกาย ฮิสตามีน (histamine) ทำให้เกิดอาการคัน จาม น้ำมูกไหลหรือน้ำตาไหล รวมทั้งอาจทำให้หลอดลมหดตัวซึ่งส่งผลให้เกิดการหายใจลำบากในผู้ป่วยบางราย

ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) บางตัวสามารถใช้สำหรับป้องกันอาการแพ้ท้อง, คลื่นไส้, อาเจียนและวิงเวียนศีรษะได้ ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) อาจนำมาใช้ในการลดอาการเกร็งและสั่นสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์คินสันได้ รวมทั้งไดเฟนไฮดามีน (diphenhydramine) ในรูปแบบยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทานสามารถนำมาใช้ในการบรรเทาอาการไอเนื่องจากหวัดหรือไข้ละอองฟางได้ นอกจากนี้อาการข้างเคียงของยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) ทำให้เกิดอาการง่วงซึมจึงมีการนำมาใช้ในการช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น

ไฮดรอกซิซีน (hydroxyzine) เคยมีการนำมาใช้รักษาอาการกระวนกระวายใจและสภาวะต่างๆ ของอารมณ์ในการช่วยควบคุมภาวะวิตกกังวล จึงมีการนำไฮดรอกซิซีน (hydroxyzine) มาใช้ในการควบคุมภาวะวิตกกังวลและเหนี่ยวนำให้สลบก่อนการผ่าตัด

ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) บางตัวเคยมีการนำมาใช้ในการรักษาลมพิษเรื้อรัง

ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) อาจนำมาใช้ในสภาวะอื่นๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีประวัติแพ้ยาคาร์โบมอล (carbomol), มีบูทาร์เมต (mebutamate), มีโปรบาร์เมต (meprobamate) หรือไทบาร์เมต (tybamate) รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร สารกันเสียหรือสี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ (low-salt), น้ำตาลต่ำหรืออาหารอื่นๆ เนื่องจากเภสัชภัณฑ์ส่วนใหญ่อาจมีโซเดียมหรือน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งยาในรูปแบบของเหลวมักมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วย

ตั้งครรภ์

ควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฮดรอกซิซีน (hydroxyzine) เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะในเดือนแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า มีผลต่อตัวอ่อนในครรภ์เมื่อให้ในขนาดที่สูงกว่าขนาดยาที่ใช้ในมนุษย์หลายเท่า

ควรหลีกเลี่ยงการใช้เดสลอแรทาดีน (desloratadine) และเฟกโซเฟนาดีน (fexofenadine) เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า มีผลต่อตัวอ่อนในครรภ์และทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ เมื่อให้ในขนาดที่สูงกว่าขนาดยาที่ใช้ในมนุษย์หลายเท่า

ควรหลีกเลี่ยงการใช้เอซาทาดีน (azatadine), บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine), ซีเทอริซีน (cetirizine), คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine), คลิมาสทีน (clemastine), ไซโพรเฮปทาดีน (cyproheptadine), เดกซ์คลอเฟนิรามีน (dexchlorpheniramine), ไดเมนไฮดริเนท (dimenhydrinate), ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine), ด๊อกซีลามีน (doxylamine) และลอแรทาดีน (loratadine) เว้นแต่แพทย์พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องใช้เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาในสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตามยานี้ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติแก่ตัวอ่อนในครรภ์หรือปัญหาอื่นๆ ในการศึกษาในสัตว์ทดลอง

กำลังให้นมบุตร

ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) สามารถผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ในปริมาณเล็กน้อย ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีให้นมบุตรเนื่องจากเด็กทารกจะไวต่ออาการข้างเคียงของยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) มาก เช่น เกิดอาการกระตือรือร้นผิดปกติหรือกระสับกระส่ายในเด็กที่ได้รับนมมารดา และอาจทำให้สารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกายมารดาลดลง, อัตราการไหลของน้ำนมลดลงและปริมาณน้ำนมในสตรีบางรายลดลง ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าแน่ชัดว่าซีเทอริซีน (cetirizine), ลอแรทาดีน (loratadine) และเดสลอแรทาดีน (desloratadine) ทำให้เกิดอาการเช่นเดียวกับยาตัวอื่นหรือไม่

เด็ก

อาการข้างเคียงที่สำคัญ เช่น ชัก มักเกิดในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย โดยทารกมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กเล็กและผู้ใหญ่ ในเด็กเล็กมากๆ มักไวต่อฤทธิ์ของยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) ซึ่งพบในเด็กมากกว่าวัยอื่นๆ ส่งผลทำให้ฝันร้าย, กระตือรือร้นผิดปกติหรือกระสับกระส่าย, อยู่ไม่นิ่งหรือควบคุมตัวเองไม่ได้

ผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักไวต่อฤทธิ์ของยา อาจทำให้เกิดอาการสับสน ปัสสาวะลำบากและเจ็บ มึนงง ง่วงซึม ปากแห้ง ในผู้สูงอายุที่ได้รับยานี้ อาจมีอาการฝันร้ายหรือกระตือรือร้นผิดปกติ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หรือหงุดหงิดได้

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่มียาสองชนิดแตกต่างกัน อาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้น ในกรณีนี้แพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆที่จำเป็น เมื่อท่านจะรับประทานยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาเหล่านี้อยู่

  • ยาต้านโคลิเนอร์จิก (anticholinergic) (ยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดเกร็งท้อง) อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงของฤทธิ์ต้านฮิสตามีน (antihistamines) หรือฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิค (anticholinergics) เช่น ปากแห้ง เพิ่มขึ้น
  • อีริโทรไมซิน (erythromycin)
  • คีโทโคนาโซล (ketoconazole) การใช้ยานี้ร่วมกับเฟกโซฟีนาดีน (fexofenadine) อาจทำให้ระดับยาเฟกโซฟีนาดีน(fexofenadine) ในเลือดสูงขึ้น
  • ยาที่กดระบบประสาทส่วนกลาง ฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลางหรือฤทธิ์ต้านฮิสตามีน (antihistamine) อาจรุนแรงขึ้น เช่น ง่วงซึม รวมทั้งการใช้มาโปรทิลีน (maprotiline) หรือยาต้านซึมเศร้าที่มีโครงสร้างเป็นไตรไซคลิก (tricyclic antidepressant) อาจทำให้อาการข้างเคียงของยาเหล่านี้ เช่น ปากแห้ง เพิ่มขึ้น
  • ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งฤทธิ์ของเอนไซม์โมโนเอมีน อ็อกซิเดส [(monoamine oxidase (MAO) inhibitor activity)] หากท่านกำลังรับประทานยาเหล่านี้หรือเคยรับประทานยาเหล่านี้ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจทำให้อาการข้างเคียงของยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) รุนแรงยิ่งขึ้น ห้ามใช้ยา 2 กลุ่มนี้ร่วมกัน

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) โปรดแจ้งแพทย์หากท่านมีสภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • ต่อมลูกหมากโต
  • โรคไต ผลของเดสลอแรทาดีน(desloratadine) อาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากการกำจัดยาลดลง
  • ปัสสาวะคั่งหรือปัสสาวะลำบาก ฤทธิ์ต้านฮิสตามีนบางอย่างของยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) อาจทำให้ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะรุนแรงขึ้น
  • โรคต้อหิน ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines) อาจมีผลทำให้ความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้น
  • ลำไส้อุดตัน
  • แผลในกระเพาะอาหาร การใช้ไซโพรเฮปทาดีน (cyproheptadine) อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
  • โรคตับ

ยา

ยาต่อไปนี้อยู่ในกลุ่มยานี้

แหล่งอ้างอิง

  1. Micromedex Thomson Healthcare. Advice for the Patient Drug Information in Lay Language USP DI, volume ll. 25th ed. Massachusetts: Micromedex Thomson Healthcare, 2005: 162-7.
  2. Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: Oct 6, 2009).
  3. Sunthornraj N, Fun LF, Evangelista LF, Labandilo LD, Romano MB, Afable JO, et al. MIMs Thailand. 106th ed. Bangkok: MediMedia (Thailand); 2007.

นรวร เจนณรงค์
25 สิงหาคม 2552 04 มีนาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย