สาเหตุการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
1. ส่วนมากมักพบได้ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 40 – 50 ปีขึ้นไป
2. พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังหมดประจำเดือนพบได้บ่อย
3. พบมากในคนอ้วน แต่ในคนผอมก็พบบ้างเหมือนกัน
4. อาจเนื่องจากกรรมพันธุ์ประมาณ 30-40%
5. บุคคลที่มีอารมณ์รุนแรง เคร่งเครียด ตื่นเต้น ตกใจง่าย ดีใจ เสียใจ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอาจจะกระตุ้นให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราวในตอนแรก แล้วจะค่อยลดลง แต่ถ้าเกิดป่วยและนานเข้า ความดันโลหิตก็จะสูงอย่างถาวร ซึ่งถ้าสูงมากก็เป็นอันตรายได้
ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องโรคความดันโลหิตสูง มักจะถูกแพทย์สั่งให้รับประทานอาหารจำกัดเกลือ และอาหารไทยเป็นอาหารที่รสออกเค็ม ทั้งในด้านการปรุง และการถนอมอาหาร การจำกัดเกลือทำให้อาหารมีรสจืดชืดมาก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการขาดอาหารได้ ถ้าต้องจำกัดอยู่นาน เพราะฉะนั้นการปรุงอาหาร ควรใช้เครื่องปรุงชนิดอื่นเข้าช่วย เช่น น้ำตาล, น้ำส้ม, น้ำมะนาว, น้ำมะขาม, เครื่องเทศ พืชบางอย่างเป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนและอันตรายจากความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่เรื้อรังรักษาไม่หายขาดผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ จะทำให้หลอดเลือดแดงตีบแข็ง การไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะต่างๆไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายกับอวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่
- สมอง เมื่อความดันโลหิตสูงมาก อาจจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบตันหรือ
แตกได้ง่ายกว่าคนปกติ
- หัวใจ ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หัวใจต้องทำงานหนัก อาจทำให้หัวใจวายได้
- ไต ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง การทำหน้าที่ของไตจะค่อยๆ เสื่อมลง ส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง
- ตา ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะเกิดภาวะเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในลูกตาอย่างช้าๆ ประสาทตาเสื่อม ตามัวลง
เรื่อยๆ จนอาจทำให้ตาบอดได้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
นอกจากการจำกัดเกลือแล้ว ในการประกอบอาหารทุกชนิด ผู้ป่วยจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมที่เติมและแอบแฝงในอาหารดังนี้
1. ของแห้ง ของเค็ม และรมควัน เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง หมูแฮม เบคอน ไส้กรอก ฯลฯ เพราะเกลือทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดโลหิตแดงเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น
2. ซุปก้อน หรือซุปซอง อาหารซองสำเร็จรูปทุกชนิด
3. อาหารหมักดองทุกชนิด รวมทั้งน้ำผลไม้กระป๋อง
4. สารเคมีบางชนิดที่ใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ผงชูรส,ผงฟู,โซดาทำขนมซึ่งจะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก
5. อาหารที่ผสมเกลือ เช่น ถั่วอบเนย ถั่วทอด มันทอด ข้าวโพดคั่ว ฯลฯ
6. เนยหรือมาการีนที่ผสมเกลือ ควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ และกะทิรวมถึงการประกอบอาหารที่ใช้น้ำมันมาก ๆ
7. น้ำ และเครื่องดื่ม เกลือแร่ ที่มีโซเดียมผสมอยู่ด้วย
8. อาหารหวานจัดเช่นขนมหวานทุกชนิด พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเพราะจะทำให้น้ำหนักตัวและระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น
9. เครื่องดื่มต่างๆ เช่น ชา กาแฟ ซึ่งมีสารคาเฟอีนสูงกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้นสูบฉีดโลหิตแรงขึ้น เป็นอันตรายสำหรับผู้มีความดันโลหิตสูง
10. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์จะทำให้หลอดเลือดขยายตัวการไหลเวียนของโลหิตเร็วและแรงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนัก และแรงดันโลหิตจะพุ่งสูงขึ้นนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ควรงดเด็ดขาด และงดสูบบุหรี่
อ้างอิงจาก Metabolic Syndromeผู้ใหญ่ ; พงศ์อมร บุนนาค
เรียบเรียงโดย พรพิศ เรืองขจร
นักวิชาการโภชนาการ ชำนาญการ 8 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผู้เป็นความดันโลหิตสูง
มีอาหารต้องหลีกเลี่ยงหลายอย่าง แต่ก็มีอาหารที่ควรรับประทานเฃ่นสมุนไพร ผักพื้นบ้านบางชนิดเช่นใบมะรุม ผักชีล้อม