หลายคนคงยังจำได้ถึงคำสอนของผู้ใหญ่ ที่บอกว่า “ก่อนทานข้าวต้องไปล้างมือก่อนเพราะว่าเดี๋ยวเชื้อโรคจะเข้าสู่ ร่างกายแล้วทำให้ไม่สบาย” คำพูดเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ทำก็ได้ ถ้าทำก็ดี แต่ใครจะรู้บ้างว่า การล้างมือเพียงแค่ 10 วินาที จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันเชื้อโรคร้ายต่าง ๆ ที่กำลังต้องการแหล่งเจริญเติบโต จะเข้าสู่ร่างกายของเรา การล้างมือจึงถือเป็นเกราะป้องกันที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งซึ่ง ขณะนี้ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น
ในโรงพยาบาลการล้างมือเป็นสิ่ง สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการที่แพทย์หรือพยาบาลรักษาผู้ป่วยคนแรก แล้วไม่ได้ล้างมือก่อนที่จะไปดูแลผู้ป่วยคนที่สอง อาจทำให้ผู้ป่วยคนที่สองได้รับโชคสองชั้น นั่นคือการได้รับโรคเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งโรคก็เป็นได้ ทีนี้เราจะมาดูกันว่า “การล้างมือ” มีความสำคัญและมีผลกับเราอย่างไรบ้าง
ทำไมต้องล้างมือ
ที่เราต้องล้างมือก็เพราะว่า มือของบุคลากรในโรงพยาบาลมักจะเปรอะเปื้อนเชื้อต่าง ๆ มากมาย จากการวิจัยการเพาะเชื้อจากมือของพยาบาลห้อง ICU ของโรงพยาบาลในฟลอริดา จำนวน 13 คน โดยทำการเพาะเชื้อ 151 ครั้งปรากฏว่า จำนวนเชื้อที่เปื้อนมือหลังจากทำแผลผู้ป่วยมีประมาณ 1 แสนถึง 1 ล้านตัว และถ้าไปแตะตัวผู้ป่วยคนอื่นจะพาเชื้อลงไปประมาณ 20-85 % ซึ่งเชื้อนี้สามารถมีชีวิตอยู่ในมือของคนได้นานถึง 3 ชั่วโมง
ถ้าล้างมือแล้ว จำนวนเชื้อจะลดลงจริงหรือ
จากการทดลองของ Lowbury และคณะ โดยการนำเชื้อ Staph และเชื้อ Pseudomonas aeruginosa ทามือแล้วลองล้างมือด้วยน้ำสบู่ธรรมดา และทำการเพาะเชื้อซ้ำปรากฏว่าจำนวนเชื้อลดลง คือ Staph 2.54 log; Pseudo 2.50 log ดังนั้นแสดงว่าหลังจากการล้างมือด้วย น้ำสบู่ธรรมดา จำนวนเชื้อลดลงเหลือน้อยกว่า 1 %
ควรล้างมือด้วยอะไรดี
ในการล้างมือไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งไปเพื่อความสะดวกอาจใช้สบู่แทนก็ได้ เพราะจากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประสิทธิภาพของสบู่กับน้ำยาฆ่าเชื้อปรากฏว่าไม่แตกต่างกัน แต่การล้างด้วย Alcohol ให้ความสะดวกมากกว่าโดยติดตั้งไว้ที่ปลายเตียง ผู้ป่วยทุกเตียง และในการล้างควรใช้เวลาประมาณ 10 วินาที (1-20) ซึ่งกรณีที่ควรจะล้างมือก่อนเป็นอย่างยิ่ง คือ
- ก่อนทำหัตถการ เช่น สวนปัสสาวะ การทำ cut down เป็นต้น
- ก่อนแตะตัวเด็กแรกเกิดและผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
- ก่อนและหลังทำแผล
- หลังจากมือเปื้อนเลือด ปัสสาวะ หรือน้ำลาย น้ำมูกผู้ป่วย
- หลังจากการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อที่ดื้อยามาก ๆ เช่น MRSA
- ก่อนและหลังการดูแลผู้ป่วย แต่ละเตียงใน ICU
สถิติการล้างมือในโรงพยาบาล เป็นอย่างไร
สถิติการล้างมือของบุคลากรโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในปัจจุบันยังถือว่าเปอร์เซ็นต์ในการล้างมือ ยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะจากการสำรวจโดยนักศึกษาแพทย์ที่ทำวิจัยในเรื่องนี้พบว่า บุคลากรโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ล้างมือจริงๆ ตามข้อบ่งชี้มีเพียงร้อยละ 38.9 %
บุคคล
พยาบาล ล้างมือ 44.8 %
ผู้ช่วยพยาบาล ล้างมือ 41.7 %
นักศึกษาแพทย์ ล้างมือ 33.5 %
แพทย์ ล้างมือ 29.7 %
รวม 38.9 %
หอผู้ป่วย
ICU ล้างมือ 51.4 %
กระดูกและข้อ ล้างมือ 44.3 %
อายุรกรรม ล้างมือ 38.4 %
ศัลยกรรม ล้างมือ 33.5 %
ส่งเสริมให้ล้างมืออย่างไร
โรงพยาบาลเล็งเห็นถึงความ สำคัญจึงได้นำไปเป็น วาระสำคัญของการประชุมคณะกรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์ และได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติโดยประกาศให้ผู้ป่วยและญาติ ทราบว่าการล้างมือของบุคลากรเป็น “เป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วย”(Patient Safety Goal) โดยกำหนดเป้าหมายว่าบุคลากรของโรงพยาบาลสงขลา นครินทร์ จะต้องล้างมือตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น ก่อนและหลังทำแผล ก่อนและหลังการดูดเสมหะ อย่างน้อยให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 ของที่มีข้อบ่งชี้ให้ล้าง และเมื่อมีการประกาศใช้ มี 4 หน่วยงานที่ส่งข้อมูล คือ หอผู้ป่วย ICU หอผู้ป่วยอุบัติเหตุ หอผู้ป่วยกระดูกหญิงและหน่วยไต (ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2549) ผลคือการติดเชื้อลดลง ทั้งนี้ยังให้ความรู้และส่งเสริมให้นัก เรียนแพทย์และพยาบ าลใหม่ เพื่อปลูกฝังเป็นค่านิยมที่ถูกต้องอีกด้วย
เรื่องเล็กที่ไม่เล็กเช่น การล้างมืออาจเป็นสาเหตุของเรื่องใหญ่เช่นโรคร้ายแรงได้เหมือนกัน หากคุณหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยมองข้ามความสำคัญจุดเล็ก ๆ นี้ไป อย่าให้เป็นเหมือนสุภาษิตที่ว่า “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”
ข้อมูลจาก: หน่วยควบคุมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์