อ่าน: 775
Small_font Large_font

สัก ใครคิดว่าไม่สำคัญ

ความสวยงามของร่างกายเป็นความงามทางกายภาพที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา การมีรูปร่างสมส่วน ผิวพรรณสะอาดสะอ้าน อิ่มเอิบ มีน้ำมีนวล ไม่เป็นโรคผิวหนัง บ่งบอกถึงเป็นผู้มีสุขภาพดี ผู้พบเห็นสามารถสัมผัสได้ถึงการดูแลรักษาความสะอาดของผู้เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับวัยรุ่นในยุคนี้ที่ชอบความท้าทาย แสวงหาความแปลกใหม่ แค่นั้นยังไม่พอ การได้ตกแต่งร่างกายให้มีลวดลาย สีสั้น ตามใจปรารถนา เป็นความงามอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงออกให้เห็นถึงรสนิยมที่เป็นศิลปะและความชอบส่วนตัว การเขียนสีและลวดลายต่างๆ บนร่างกาย สามารถทำได้ 2 วิธีคือ การเขียนลวดลายบนผิวหนัง (body paintng) และการเขียนลวดลายใต้ผิวหนังที่เรียกว่า การสัก (tattoo)

การเขียนลวดลายบนผิวหนัง เป็นการเขียนด้วยสี อาจจะเป็นสีเดียว หรือหลายสี ขึ้นกับลวดลายและความต้องการของเจ้าของร่างกายนั้น ลวดลายจะปรากฏอยู่ชั่วคราว และจะถูกชะล้างออกได้เมื่อมีการทำความสะอาด ส่วนการสัก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า สักคือการเอาของแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่างๆ กัน หรือใช้เหล็กจุ้มหมึกหรือนำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมาย หรือลวดลาย ถ้าใช้หมึกเรียกว่า สักหมึก ถ้าใช้น้ำมัน เรียกว่าสักน้ำมัน ในคำโบราณหมายถึง ทำเครื่องหมายโดยใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกแทงที่ผิวหนังเพื่อแสดงหลักฐานเช่น สักข้อมือ แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์ หรือเป็นเลกมีสังกัดกรมกองแล้ว สักหน้า แสดงว่าเป็นผู้ต้องโทษปาราชิก

ปัจจุบันการสักร่างกายพัฒนาไปมาก มีเครื่องมือที่เป็นเข็มแบบใช้ไฟฟ้า สามารถรถแทงเข้าไปถึงในชั้นหนังแท้ ซึ่งเป็นการสักแบบถาวร โดยสีหรือหมึกที่ถูกแทงลงไปจะถูกดูดซับด้วยเนื้อเยื่อ และร่างกายไม่สามารถขจัดหมึกออกไปได้ รอยสักจะคงอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิต การสักอีกแบบหนึ่ง เป็นการสักแบบชั่วคราว เป็นการสักบนผิวหนังชั้น stratum corneum เป็นหนังกำพร้าชั้นนอกสุด สีหรือหมึกจะหายไปพร้อมกับการหลุดลอกของผิวหนังชั้นดังกล่าว ขณะนี้สีหรือหมึกที่นิยมนำมาตกแต่งผิวกาย มีให้เลือกหลากสี หลายลาย ในกรณีที่เป็นการเขียนลวดลายชั่วคราว หรือสักแบบชั่วคราว บางท้องถิ่นนิยมสักโดยใช้สีจากธรรมชาติ ที่เรียกกันว่าเฮนนา ซึ่งเป็นสารสกัดจากสมุนไพรเทียนกิ่ง ที่มีสาระสำคัญคือลอโซน จะให้สีโทนน้ำตาล หากพบการสักด้วยเฮนนาแล้วได้สีดำหรือสีน้ำเงินเข้ม ที่เรียกว่า Black Henna หรือ Blue Henna ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจมีการเติมสารเคมีที่ชื่อ P – phenylenediamine (PPD) ซึ่งสำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จัดให้เป็นสารควบคุมพิเศษ อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ย้อมผมชนิดถาวรเท่านั้น และกำหนดให้ใช้เป็นส่วนผสมได้ไม่เกินร้อยละ 6 ซึ่งที่ฉลากของผลิตภัณฑ์จะต้องแสดงวิธีใช้และคำเตือนตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด อันตรายของผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ PPD เมื่อสัมผัสกับผิวหนัง อาจก่อให้เกิดการแพ้ในบางคน จึงต้องมีการทดสอบการแพ้ก่อนใช้จริง อาการที่พบถ้าแพ้คือจะมีอาการค้นศีรษะ คันหน้าผาก ตาบวมทั้งสองข้าง มีผื่นขึ้นตามตัว อาจมีน้ำเหลืองไหลออกมากจากผื่นอีกด้วย ถ้าแพ้มากจะทำให้หายใจลำบาก ซึ่งถ้าเกิดการแพ้ขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว หากไปสัมผัสกับสารอื่นๆ ที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกันอาจก่อให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรงได้อีก

ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องการกำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ กรรมวิธีรวมทั้งสีที่ใช้ในการสัก ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อจากเข็มและอุปกรณ์อื่นๆ การแพ้สีที่ใช้ อาการบวมหรือรอยไหม้บริเวณที่สัก เมื่อมีการผ่านกระบวนการ MRI ซึ่งสาเหตุของอาการเหล่านี้ยังไม่แน่ชัด สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากปฏิกิริยาของโลหะหนักจากสีในรอยสัก นอกจากนี้ปัญหาจากการลบรอยสักที่ไม่ถูกใจซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอยสักถาวร ดังนั้นการอยากมีลวดลายสวยงามบนผิวกาย จะเป็นไปตามแฟชั่น หรือความชอบส่วนตัวก็ตาม ต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน มิฉะนั้นอาจเสียใจ ไม่น่าหลงผิดไปเลย

ที่มา: สำนักเทคโนโลยีชุมชน
กรมวิทยาศาสตร์บริการ

: กาย
: บทความสุขภาพ
: สุขภาพ
: ผิวหนัง รอยสัก

พรรณภัทร 19 มี.ค. 2553 20 มี.ค. 2553
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย