อ่าน: 509
Small_font Large_font

Thioguanine or 6-Thioguanine (ไทโอกวัวนีน )

คำอธิบายพอสังเขป

ไทโอกวัวนีน (thioguanine) หรือ 6-ไทโอกวัวนีน (6-thioguanine) เป็นยาที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับเมอร์แคปโทเพียวรีน (mercaptopurine) เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนเป็นสารไรโบนิวคลีโอไทด์ที่ยับยั้งการสังเคราะห์เบสเพียวรีน (purine) ทั้งนี้เบสเพียวรีนเป็นสารที่ถูกนำมาใช้ในการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก (nucleic acids) ที่จำเป็นในการสร้างดีเอ็นเอ (DNA)

  • ไทโอกวัวนีนใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอีลอยด์ [acute myelogenous (nonlymphocytic) leukemia] เรียกย่อว่า เอเอ็มแอล (AML)

ไทโอกวัวนีนอาจใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆได้อีก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมี ประวัติการแพ้ไทโอกวัวนีน (thioguanine) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ยาเคมีบำบัดมีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกเเล้วใหม่ ๆ ควรงดรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก หากต้องการรับประทานควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างใช้ยานี้

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้ หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

ไทโอกวัวนีน (thioguanine) สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทารก เมื่อให้ยาในสตรีมีครรภ์
จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าเมื่อให้ยาในขนาดสูงกว่าที่ให้ในมนุษย์ 5 เท่า ไทโอกวัวนีนทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อน เช่น บวมทั้งตัว (generalized edema), กระโหลกศีรษะผิดปกติ (cranial defects), การเจริญของกระดูกลดลง (skeletal hypoplasia),ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) เป็นต้น
สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ใช้ยานี้ควรคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยานี้

กำลังให้นมบุตร

โปรดแจ้งแก่แพทย์หากท่านกำลังให้นมบุตร หรือตั้งใจจะให้นมบุตรในระหว่างที่ได้รับยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง จึงไม่แนะนำให้ทารกได้รับน้ำนมมารดาระหว่างใช้ยานี้

เด็ก

เด็กอาจจะไวต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) โดยเฉพาะอาการพิษต่อตับ

ผู้สูงอายุ

จำนวนของผู้สูงอายุในการศึกษาการใช้ยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) มีไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นความแตกต่างของการตอบสนองต่อยาเมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่

โดยทั่วไปแล้วควรใช้ยาไทโอกวัวนีน ด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากผู้ป่วยสูงอายุมีการทำงานของตับ, ไต หรือ การทำงานของหัวใจที่ลดลง หรือมีภาวะโรคร่วมอื่นๆ ที่อาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากยา

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย

ยาต้านไทรอยด์ (antithyroid agents) แอซาไทโอพรีน (azathioprine)
คลอแรมเฟนิอคอล (chloramphenicol) คอลชิซีน (colchicines)
ฟลูไซโทซีน (flucytosine) อินเทอเฟียรอน (interferon)
พลิคามัยซิน (plicamycin) ไซโดวูดีน (zidovudine)
ซัลฟาซาลาซีน (sulfasalazine) โพรเบเนซิด (probenecid)
ซัลฟินไพราโซน (sulfinpyrazone) วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccine)
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดตัวเป็น (influenza virus vaccine, live) วัคซีนโรคหัดชนิดตัวเป็น (measles virus vaccine, live)
วัคซีนโรคคางทูมชนิดตัวเป็น (mumps virus vaccine, live) วัคซีนโรคโปลิโอชนิดตัวเป็น (poliovirus vaccine, live)
วัคซีนโรตาไวรัสชนิดตัวเป็น (rotavirus vaccine, live) วัคซีนโรคหัดเยอรมันชนิดตัวเป็น (rubella virus vaccine, live)
วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox vaccine) วัคซีนไทฟอยด์ (typhoid vaccine)
วัคซีนโรคอีสุกอีใส (varicella virus vaccine) วัคซีนไข้เหลือง (yellow fever vaccine)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคพิษสุราเรื้อรัง อาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ
  • โรคอีสุกอีใส อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคงูสวัด อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ภาวะเลือดจาง หรือ
  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ ยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) จะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคตับหรือไต
  • โรคเกาต์ (gout) หรือ นิ่ว —- ยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) ทำให้กรดยูริกในร่างกายเพิ่มขึ้น อาจทำให้โรคเกาต์กำเริบ หรือเกิดนิ่วได้
  • มีภาวะขาดเอนไซม์ไทโอเพียวรีน-เอส-เมทิลทรานเฟอเรส (thiopurine-S-methyltransferase)

การใช้ที่ถูกต้อง

ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน

  • รับประทานยาในขณะท้องว่าง (1 ชั่วโมงก่อนอาหารหรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร) โดยกลืนยาทั้งเม็ด แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ
  • ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ใช้ยาจนครบระยะเวลาการรักษา
  • ระหว่างที่รับประทานยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) ควรดื่มน้ำให้มากเป็นพิเศษ และปัสสาวะบ่อย ๆ เพื่อลดอาการข้างเคียงต่อไตจากยา
  • ยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) อาจทำให้ท่านมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท่านไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ควรให้ความร่วมมือในการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตามแพทย์นัด และรับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้น อยู่กับสภาวะโรคของท่าน

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยา ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า และแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเก็บรักษา

  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ เนื่องจากอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ
  • ยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) มีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดแดงลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรือภาวะเลือดออกง่าย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่น ๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องเสีย เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่
  • ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาไทโอกวัวนีน ท่านไม่ควรได้รับวัคซีนใด ๆ โดยไม่ได้แจ้งแพทย์ เนื่องจากยาทำให้ภูมิคุ้มกันของท่านลดลง และมีโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนที่ท่านได้รับ นอกจากนี้บุคคลที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ควรได้รับวัคซีนโปลิโอ เพราะอาจทำให้ท่านได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอได้
  • ควรพบแพทย์ทันทีถ้าท่านมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาไทโอกวัวนีนในระยะยาว เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อตับ โดยมีการพบอาการพิษต่อตับในเด็กที่รับยานี้ในระยะยาวเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟบลาสต์ (acute lymphoblastic leukemia) อาการพิษต่อตับที่พบ เช่น กลุ่มอาการการอุดกั้นหลอดเลือดดำตับ (syndrome of hepatic veno-occlusive disease) คือมีภาวะเลือดมีรงควัตถุสีเหลืองจากน้ำดี (บิลิรูบิน) ปริมาณมากเกินไป (hyperbilirubinemia), ตับโตกดเจ็บ (tender hepatomegaly), น้ำหนักเพิ่มเนื่องจากมีน้ำคั่ง และท้องมาน เป็นต้น หรืออาการของภาวะความดันเลือดสูงในหลอดเลือดดำพอร์ทัล (portal hypertension) คือมีอาการม้ามโต , ภาวะเกล็ดเลือดน้อย, และหลอดเลือดขอดบริเวณหลอดอาหาร (oesophageal varices) เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะขาดเอนไซม์ไทโอเพียวรีน-เอส-เมทิลทรานเฟอเรส (thiopurine-S-methyltransferase) จะไวต่อการเกิดการกดไขกระดูกจากยาไทโอกวัวนีน (thioguanine) โดยมีแนวโน้มที่จะเกิดอย่างรวดเร็วหลังจากที่เริ่มได้รับยา และอาจมีการกดไขกระดูกอย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาภาวะขาดเอนไซม์นี้ และอาจปรับขนาดยาเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. พบแพทย์ทันหากมีอาการต่อไปนี้
พบไม่บ่อย

  • อุจจาระมีสีดำ, ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด, ไอ หรือเสียงแหบ, ไข้ หรือสั่น, ปวดบั้นเอว, ปัสสาวะขัดหรือเจ็บ, มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีจ้ำเลือด

ข. พบแพทย์โดยเร็ว หากมีอาการต่อไปนี้
พบบ่อย

  • อ่อนเพลียผิดปกติ, ตัวเหลือง ตาเหลือง

พบไม่บ่อย
  • ปวดข้อ, เบื่ออาหาร, คลื่นไส้ อาเจียน, เท้าหรือขาบวม

พบน้อย
  • เจ็บปาก หรือริมฝีปาก

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่อง จากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบไม่บ่อย

  • ผิวหนังมีสีคล้ำขึ้น, ท้องเสีย, ปวดศีรษะ, ผื่นผิวหนัง คัน, อ่อนเพลีย

ง. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Azacitidine, Capecitabine, Cladribine , Cytarabine (Ara-C) , Decitabine, Fludarabine , Fluorouracil (5-FU) , Gemcitabine, Mercaptopurine or 6-Mercaptopurine (6-MP) , Methotrexate , Pemetrexed, Tegafur and Uracil

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Lanvis (tablets 40 mg) (แลนวีส (เม็ด 40 มก.))

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Fluorouracil . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: June 14, 2010.
  2. วิลาวัณย์ พิชัยรัตน์ และ สมสมัย สุธีรศานต์. การดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด [สำหรับผู้ป่วยเเละครอบครัว] พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. 2552 หน้า 5-19
  3. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: July 16, 2010.
  4. Dailymed current medication information .Thioguanine. Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=5912 Date: July 16, 2010.
  5. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 14/7/2010).
  6. Medina PJ and Fausel C. Cancer Treatment and Chemotherapy. In : DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG and Posey LM , editors.PharmacotherapyA Pathophysiologic Approach 7th ed. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 2085-2108.
  7. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Thioguanine (Systemic) Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  8. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals: Thioguanine Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/print/lexicomp/thioguanine.html Access Date: July 16, 2010.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
17 กรกฎาคม 2553 12 ธันวาคม 2553
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย