Pemetrexed

คำอธิบายโดยสังเขป

เพมิเทรกเซด (pemetrexed) เป็นยาต้านโฟเลต (antifolate or folate antagonist) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งวิถีการสังเคราะห์เบสเพียวรีน (purine) และไทมีน (thymidine) ที่จะถูกใช้ในกระบวนการสร้างสายดีเอ็นเอ (DNA) ต่อไป นอกจากยับยั้งเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลต รีดักเทส (dihydrofolate reductase) แล้ว ยังยับยั้งเอมไซม์ไทมิดีนซินเทส (thymidine syntase) และไกลซินาไมด์ ไรโบนิวคลีโอไทด์ ฟอมิลทรานเฟอเรส (glycinamide ribonucleotide formyltransferase) ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดดื้อยาของเซลล์มะเร็ง

ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ดังนี้
มะเร็งปอดชนิดนอนสแควมัส-นอนสะมอลเซลล์ (nonsquamous non-small cell lung cancer) โดยใช้ร่วมกับยาซิสแพลทิน (cisplatin)

  • เพมิเทรกเซด ใช้ร่วมกับซิสแพลทิน ในการเริ่มรักษาผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่ หรือมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งแล้ว (metastasis)
    มะเร็งปอดชนิดนอนสแควมัส-นอนสะมอลเซลล์ (nonsquamous non-small cell lung cancer)-โดยใช้ในระยะการรักษาเพื่อดำรงสภาพ (maintenance)
  • เพมิเทรกเซดใช้สำหรับควบคุมอาการของผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่ หรือมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งแล้ว โดยที่โรคยังไม่ได้อยู่ในระยะก้าวหน้า (progress) โดยให้ยานี้หลังจากที่ได้รับยาเคมีบำบัดสูตรที่มีสารประกอบแพลทินัม (platinum-based chemotherapy)
    มะเร็งปอดชนิดนอนสแควมัส-นอนสะมอลเซลล์ (nonsquamous non-small cell lung cancer)-โดยใช้หลังจากที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกแล้วไม่ได้ผล (after prior chemotherapy)
  • เพมิเทรกเซดใช้เป็นยาเดี่ยวสำหรับรักษาผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่ หรือมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งแล้วหลังจากที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกแล้วไม่ได้ผล
    เมโซทีลิโอมา (mesothelioma) ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดจากเยื่อบุอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย ที่เรียกว่าเมโซทีเลียม(mesothelium)
  • เพมิเทรกเซดใช้ร่วมกับซิสแพลทินสำหรับรักษาผู้ป่วยเมโซทีลิโอมาของเยื่อหุ้มปอด ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้

อาจใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆได้อีก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือมี ประวัติการแพ้เพมิเทรกเซด (pemetrexed) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

ยาเคมีบำบัดมีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกเเล้วใหม่ ๆ ควรงดรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก หากต้องการรับประทานควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน

ตั้งครรรภ์

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

จากกลไกการออกฤทธิ์ของเพมิเทรกเซด (pemetrexed) สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทารกเมื่อให้ยาในหญิงมีครรภ์
เพมิเทรกเซดทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนของหนูทดลองเมื่อฉีดยาเข้าช่องท้อง (intraperitoneal) ในระยะที่ตัวอ่อนมีการสร้างอวัยวะ โดยพบว่ากระดูกข้อเท้า และกะโหลก มีการเจริญได้ไม่เต็มที่ และปากแหว่ง เพดานโหว่ ดังนั้น สตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ใช้ยานี้ ควรคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยานี้

กำลังให้นมบุตร

ไม่มีข้อมูลว่ายาเพมิเทรกเซด (pemetrexed) สามารถผ่านออกทางน้ำนมได้หรือไม่ เนื่องจากมียาหลายชนิดที่สามารถออกทางน้ำนมได้ และหากยาเพมิเทรกเซดเพมิเทรกเซดผ่านเข้าสู่น้ำนมได้ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกที่ได้รับน้ำนมมารดา ดังนั้นควรหยุดให้นมแก่ทารกในระหว่างที่ได้รับยานี้

ผู้สูงอายุ

เพมิเทรกเซด (pemetrexed) ถูกขับออกทางไต ดังนั้นความเสี่ยงต่อการเกิดพิษจากยาอาจจะเพิ่มขึ้นในผู้ที่การทำงานของไต บกพร่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีการทำงานของไตลดลง แพทย์อาจมีการปรับขนาดยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่นๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย
|อะซีโคลฟีแนค (aceclofenac)|อะซีเมทาซิน (acemetacin)|แอลโคลฟีแนค(alclofenac)|
|อะพาโซน (apazone)|เบนอกซาโพรเฟน (benoxaprofen)|บรอมฟีแนค (bromfenac)|
|คาร์โพรเฟน (carprofen)|เซเลโคซิบ (celecoxib)|คลอเมทาซิน (clometacin)|
|คลอนิซิน (clonixin)|เด็กซ์คีโทโพรเฟน (dexketoprofen)|ไดโคลฟีแนค (diclofenac)|
|ไดฟลูนิซาล (diflunisal)|ไดไพโรน (dipyrone)|ดรอกซิแคม (droxicam)|
|อีโทโดแลค (etodolac)|อีโทฟีนาเมต (etofenamate)|เฟลบิแนค (felbinac)|
|เฟนบิวเฟน (fenbufen)|ฟีโนโพรเฟน (fenoprofen)|ฟลอคตาเฟนีน (floctafenine)|
|กรดฟลูเฟนามิค (flufenamic acid)|เฟลอบิโพรเฟน (flurbiprofen)|ไอบิวโพรเฟน (ibuprofen)|
|อินโดเมทาซิน (indomethacin)|อินโดโพรเฟน (indoprofen)|คีโทโพรเฟน (ketoprofen)|
|คีโทโรแลค (ketorolac)|ลอร์นอกซิแคม (lornoxicam)|เมโคลฟีนาเมต(meclofenamate)|
|กรดมีเฟนามิค (mefenamic acid)|เมลอกซิแคม (meloxicam)|เนบิวมีโทน(nabumetone)|
|นาพรอกเซน (naproxen)|ไนเมซูไลด์ (nimesulide)|ออกซีเฟนบิวทาโซน(oxyphenbutazone)|
|เฟนิลบิวทาโซน (phenylbutazone)|เพียรอกซิแคม (piroxicam)|เพียโพรเฟน (pirprofen)|
|โพรเบเนซิด (probenecid)|โรฟีโคซิบ (rofecoxib)|ซูลินแดค (sulindac)|
|ซูโพรเฟน (suprofen)|เทนอกซิแคม (tenoxicam)|กรดเทียโพรฟีนิค (tiaprofenic acid)|
|โทลมีทิน (tolmetin)|

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาเพมิเทรกเซด (pemetrexed) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคพิษสุราเรื้อรัง อาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ
  • โรคอีสุกอีใส อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคงูสวัด อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ (colitis)
  • โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • ภาวะเลือดจาง อาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากยา
  • ภาวะขาดโฟเลต อาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากยา
  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ เพมิเทรกเซด (pemetrexed) ) จะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคตับหรือไต
  • โรคแผลในทางเดินอาหาร

การใช้ที่ถูกต้อง

ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาฉีด

  • ยานี้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ในระหว่างที่ได้รับยาเพมิเทรกเซด (pemetrexed) ท่านต้องดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ (ประมาณ 2-3 ลิตรต่อวัน) เว้นแต่ท่านได้รับการจำกัดน้ำ เพื่อช่วยให้ยาถูกขับออกมาทางปัสสาวะ และป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ต่อไต และช่วยให้ไตทำงานได้ดี
  • สารละลายยาเพมิเทรกเซด (pemetrexed) เตรียมโดยเภสัชกร ใช้สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยพยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญในการให้ยาเคมีบำบัด แพทย์อาจให้ท่านรับประทานกรดโฟลิค (folic acid), วิตามินบี 12 และยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroid) เช่น เดกซาเมทาโซน (dexamethazone) เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างจากยา
  • ระหว่างได้รับยานี้ ท่านควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ควรให้ความร่วมมือในการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตามแพทย์นัด และรับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาเพมิเทรกเซด (pemetrexed) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหนัก ส่วนสูงของผู้ป่วย ชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์ แนะนำ และกำหนดเวลา และมีเภสัชกรผู้เตรียมยาเคมีบำบัด ตรวจสอบขนาดยาที่ท่านได้รับ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย นอกจากนี้ความถี่ของการให้ยาเพมิเทรกเซด อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพัก และซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาในครั้งต่อไปได้

เมื่อลืมใช้ยา

มารับยาตามแพทย์นัด เพื่อให้ได้ยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

การเก็บรักษา

  • เพมิเทรกเซด (pemetrexed) สำหรับฉีด-ควรเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ให้เก็บที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียสได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
  • หลังจากผสมยาแล้วยามีความคงตัวทางกายภาพไม่เกิน 24 ชั่วโมง เมื่อเก็บในตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) หรือที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ให้เก็บที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียสได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

ข้อควรระวัง

  • ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาเพมิเทรกเซด (pemetrexed) จะได้รับกรดโฟลิค (folic acid) และวิตามินบี 12 เป็นการป้องกันเพื่อลดการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบเลือด และระบบทางเดินอาหาร ควรรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ในการศึกษาทางคลินิกพบว่ามีรายงานการเกิดผื่นผิวหนังได้บ่อยในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroid) ก่อนให้ยาเพมิเทรกเซด แพทย์อาจให้ท่านรับประทานเดกซาเมทาโซน (dexamethazone) หรือคอร์ติโคสเตอรอยด์ชนิดอื่น ๆ เพื่อลดอุบัติการณ์ และความรุนแรงต่อการเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนัง
  • เพมิเทรกเซด มีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดแดงลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรือภาวะเลือดออกง่าย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่น ๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องเสีย เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่
  • ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาเพมิเทรกเซด ท่านไม่ควรได้รับวัคซีนใด ๆ โดยไม่ได้แจ้งแพทย์ เนื่องจากยาทำให้ภูมิคุ้มกันของท่านลดลง และมีโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนที่ท่านได้รับ นอกจากนี้บุคคลที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ควรได้รับวัคซีนโปลิโอ เพราะอาจทำให้ท่านได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอได้
  • ควรพบแพทย์ทันทีถ้าท่านมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • ผู้ป่วยโรคไตต้องระมัดระวังในการใช้ยา เนื่องจากยาถูกขับออกทางไต ผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่องจะมีการขับยาออกจากร่างกายได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเพิ่มขึ้น มีรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ไตบกพร่องอย่างรุนแรงและได้รับเพมิเทรกเซด อย่างเดียวโดยที่ไม่ได้รับกรดโฟลิค (folic acid) และวิตามินบี 12 ร่วมด้วย
  • ระมัดระวังการใช้ยาเพมิเทรกเซดร่วมกับยาไอบิวโพรเฟน (ibuprofen) และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ [nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)] ชนิดอื่น ๆ ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องในระดับที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้

  • ท้องร่วง
  • เจ็บปากหรือริมฝีปาก
  • เลือดออกผิดปกติ หรือมีจ้ำเลือด
  • เจ็บคอ, ไข้, สั่น, ไอ หรือมีอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อ
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก หรือกลืนลำบาก
  • พูดได้ช้าลง
  • เวียนศีรษะ
  • อ่อนแรง เจ็บ ชาตามปลายมือ ปลายเท้า
  • ผื่นลมพิษ ผื่นผิวหนังอื่น ๆ, คัน
  • ปัสสาวะลดลง

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องผูก
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ผิวหนังซีด
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • สับสน
  • ใจสั่น
  • นอนไม่หลับ
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ปวดข้อ หรือกล้ามเนื้อ

ยานี้อาจทำให้ผมร่วงขณะใช้ยา หลังจากหยุดยาแล้วผมจะกลับมางอกตามปกติ

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ชื่อทางการค้า

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยาที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Pemetrexed. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: June 12, 2010.
  2. วิลาวัณย์ พิชัยรัตน์ และ สมสมัย สุธีรศานต์. การดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด [สำหรับผู้ป่วยเเละครอบครัว] พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. 2552 หน้า 5-19
  3. Dailymed current medication information . Pemetrexed Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=17164#s48 Date: June 13, 2010.
  4. Medina PJ and Fausel C. Cancer Treatment and Chemotherapy. In : DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG and Posey LM , editors.Pharmacotherapy A Pathophysiologic Approach 7th ed. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 2085-2108.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Pemetrexed Injection Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a607043.html Access Date: June 13, 2010.

เขียนโดย โพยม วงศ์ภูวรักษ์, ไตรรัตน์ แก้วเรือง

เขียนเมื่อ 13 Jun 2010 12:06 แก้ไขเมื่อ 16 Oct 2010 15:10

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย