Capecitabine

คำอธิบายโดยสังเขป

เคพไซทาบีน (capecitabine) เป็นยาที่มีโครงสร้างคล้ายเบสยูราซิล (uracil base) สามารถรับประทานได้ เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกเปลี่ยนเป็นฟลูออโรยูราซิลหรือไฟฟ์-เอฟยู (fluorouracil or 5-FU) จึงออกฤทธิ์เหมือนกับฟลูออโรยูราซิล นั่นคือเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์ที่อยู่ในรูปของนิวคลีโอไทด์ (nucleotide) ที่ชื่อว่าฟลูออโรดีออกซียูริดีน โมโนฟอสเฟต (fluorodeoxyuridine monophosphate) แล้วจับกับเอนไซม์ไทมิดิเลตซินเทส (thymidylate synthase) ทำให้เอนไซม์หมดฤทธิ์ไป จึงทำให้เซลล์มะเร็งสังเคราะห์สารไทมิดีน (thymidine) ที่จะนำมาสร้างเป็นสายดีเอ็นเอ (DNA) ไม่ได้ และยังมีนิวคลีโอไทด์ในรูปไทรฟอสเฟต (triphosphate nucleotide) ที่จะเข้าไปรวมกับอาร์เอ็นเอ (RNA) ทำให้ทำหน้าที่ผิดปกติไป

เคพไซทาบีน ใช้รักษามะเร็งต่าง ๆ ดังนี้

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (colorectal cancer)

  • เคพไซทาบีน ใช้เป็นยาเดี่ยวร่วมกับการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงระยะที่ 3 ที่สามารถผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกได้หมด
  • เคพไซทาบีน เป็นยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรกในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

มะเร็งเต้านม

  • ใช้เคพไซทาบีนร่วมกับยาดอคซีแทกเซล (docetaxel) รักษามะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจาย หลังจากที่ล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสูตรที่มีแอนทราซัยคลิน (anthracycline-containing chemotherapy)
  • ใช้เคพไซทาบีนเดี่ยว ๆ รักษามะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจายที่ดื้อต่อยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) และ ยาเคมีบำบัดสูตรที่มีแอนทราซัยคลิน (anthracycline-containing chemotherapy) หรือดื้อต่อยาแพคลิแทกเซล (paclitaxel) และไม่สามารถใช้ยาเคมีบำบัดสูตรที่มีแอนทราซัยคลิน (anthracycline-containing chemotherapy) ได้

ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆได้อีก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมี ประวัติการแพ้เคพไซทาบีน (capecitabine ) หรือฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่นๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ยาเคมีบำบัดมีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกเเล้วใหม่ ๆ ควรงดรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก หากต้องการรับประทานควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างใช้ยานี้

ตั้งครรรภ์

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'D' สำหรับสตรีมีครรภ์

ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม อาจใช้ยานี้ได้หากพิจารณาแล้วว่าประโยชน์จากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

โปรดแจ้งแพทย์หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตร เนื่องจากยาเคพไซทาบีน (capecitabine ) มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์
จากการศึกษาในหนูทดลองพบว่า เมื่อให้ยาในระหว่างที่ตัวอ่อนมีการสร้างอวัยวะ ยาทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อน เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่, มีสภาพไร้ลูกตาแต่กำเนิด เป็นต้น
ยานี้อาจใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคมะเร็งในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีผลดีต่อมารดามากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดต่อทารกในครรภ์

กำลังให้นมบุตร

โปรดแจ้งแพทย์หากท่านกำลังให้นมบุตร หรือตั้งใจจะให้นมบุตรในระหว่างที่ได้รับยาเคพไซทาบีน (capecitabine ) เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง จึงไม่แนะนำให้ทารกได้รับน้ำนมมารดาระหว่างใช้ยานี้

ผู้สูงอายุ

ผู้ป่วยสูงอายุมักจะไวต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเคพไซทาบีน (capecitabine) เช่น ท้องร่วง, คลื่นไส้ อาเจียน ,กลุ่มอาการมือ –เท้า (hand-and-foot syndrome) เป็นต้น

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย

  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดตัวเป็น (influenza virus vaccine, live)
  • วัคซีนโรคหัดชนิดตัวเป็น (measles virus vaccine, live)
  • วัคซีนโรคคางทูมชนิดตัวเป็น (mumps virus vaccine, live)
  • วัคซีนโรคโปลิโอชนิดตัวเป็น (poliovirus vaccine, live)
  • วัคซีนโรตาไวรัสชนิดตัวเป็น (rotavirus vaccine, live)
  • วัคซีนโรคหัดเยอรมันชนิดตัวเป็น (rubella virus vaccine, live)
  • วัคซีนไทฟอยด์ชนิดตัวเป็น (typhoid vaccine, live)
  • วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG vaccine)
  • วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox vaccine)
  • วัคซีนโรคอีสุกอีใส (varicella virus vaccine)
  • วัคซีนไข้เหลือง (yellow fever vaccine)
  • ลูโควอริน (leucovorin)
  • เลโวลูโควอริน (levoleucovorin)
  • วอร์ฟาริน (warfarin)
  • เฟนิทอยน์ (phenytoin)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาเคพไซทาบีน (capecitabine) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคอีสุกอีใส อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคงูสวัด อาจทำให้โรครุนแรงขึ้น
  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ ยาเคพไซทาบีน (capecitabine) จะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคตับหรือไต อาจเพิ่มอาการพิษจากยา เนื่องจากยาถูกขับออกจากร่างกายได้ช้าลง
  • มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • มีภาวะขาดเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีน ดีไฮโดรจีเนส (dihydropyrimidine dehydrogenase enzyme deficiency)

การใช้ที่ถูกต้อง

ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน

  • รับประทานยาภายใน 30 นาทีหลังจากรับประทานอาหาร โดยกลืนยาทั้งเม็ด แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ
  • ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และใช้ยาจนครบระยะเวลาการรักษา
  • ยาเคพไซทาบีน (capecitabine) อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท่านไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ควรให้ความร่วมมือในการติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตามแพทย์นัด และรับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาเคพไซทาบีน (capecitabine) อาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ควรใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำหรือตามที่ระบุ
จำนวนครั้งของการรับประทานยาในแต่ละวัน, ระยะห่างของการรับประทานยาในแต่ละครั้งและระยะเวลาที่ท่านรับประทานยาขึ้น อยู่กับสภาวะโรคของท่าน

เมื่อลืมใช้ยา

หากท่านลืมรับประทานยาข้ามมื้อที่ลืมและรับประทานยาต่อในมื้อถัดไปในขนาดยา ปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า และแจ้งให้แพทย์ทราบ

การเก็บรักษา

  • เก็บในภาชนะปิดสนิทให้พ้นมือเด็ก
  • เก็บให้ห่างจากความร้อนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรง
  • ห้ามเก็บยาไว้ในห้องน้ำ ใกล้อ่างล้างมือหรือที่ชื้น เนื่องจากความร้อนหรือความชื้นอาจเป็นสาเหตุให้ยาเสื่อมคุณภาพ
  • ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

ข้อควรระวัง

  • ยาเคพไซทาบีน (capecitabine) มีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดแดงลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรือภาวะเลือดออกง่าย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่น ๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องร่วง เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่
  • ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคพไซทาบีน ท่านไม่ควรได้รับวัคซีนใดๆ โดยไม่ได้แจ้งแพทย์ เนื่องจากยาทำให้ภูมิคุ้มกันของท่านลดลง และมีโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนที่ท่านได้รับ นอกจากนี้บุคคลที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ควรได้รับวัคซีนโปลิโอ เพราะอาจทำให้ท่านได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอได้
  • ควรพบแพทย์ทันทีถ้าท่านมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • อาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง เช่น ปากอักเสบ (stomatitis), ท้องร่วง (diarrhea), ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(neutropenia) และ พิษต่อระบบประสาท (neurotoxicity)จากยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) สัมพันธ์กับภาวะขาดเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีน ดีไฮโดรจีเนส (dihydropyrimidine dehydrogenase enzyme deficiency) เนื่องจากภาวะขาดเอนไซม์นี้ทำให้ยาถูกกำจัดออกจากร่างกายได้ช้าลง
  • พบว่ายาเคพไซทาบีน ทำให้เกิดอาการพิษต่อหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตาย, หัวใจเต้นผิดจังหวะ , หัวใจวาย เป็นต้น ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังในผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ระวังการใช้ยาเคพไซทาบีน ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทาน เช่น วอร์ฟาริน (warfarin) เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์บางอย่างที่ไม่ต้องการ ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดกับผู้ใช้ยาทุกราย แต่หากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อไปนี้

  • เกิดกลุ่มอาการพาลมาร์-แพลนเทอร์ อีริโทรดีอีสทีเซีย (palmar-planter erythrodysesthesia syndrome) หรือกลุ่มอาการ มือ-เท้า (hand-foot syndrome) ซึ่งเกิดจากยาปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ รั่วออกจากหลอดเลือดขนาดเล็กที่มือและเท้า ยาที่รั่วออกมาจึงทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ หลอดเลือด โดยเริ่มแรกอาจมีความรู้สึกเหมือนมีหนามแทงปลายมือ ปลายเท้า จากนั้นอีก 2-3 วัน จะรู้สึกเจ็บ ปวด ขณะจับสิ่งของ หรือเดิน ฝ่ามือและฝ่าเท้า บวม แดง ทั้งสองข้าง อาจมีผิวหนังลอกร่วมด้วย
  • ท้องร่วงอย่างรุนแรง
  • เบื่ออาหารอย่างมาก
  • อาเจียนอย่างรุนแรง
  • เจ็บ ชาปลายมือ ปลายเท้า หรือมีอาการบวมแดง
  • เจ็บปาก เจ็บคอ
    อาการเจ็บในปากอาจบรรเทาได้ด้วยการอมน้ำแข็ง และรักษาช่องปากให้สะอาดด้วยการแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันที่มีขนนุ่มวันละ 2-3 ครั้ง บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ 0.9% สำหรับน้ำยาบ้วนปากที่มีตัวยาฆ่าเชื้ออาจทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุในปาก และผลการรักษาไม่ได้ดีกว่าน้ำเกลือ ในกรณีที่มีแผลในปากรุนแรง การแปรงฟันอาจทำให้เกิดแผลเพิ่มขึ้นได้ ควรใช้ฟองน้ำหรือผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือทำความสะอาดฟันแทน *
  • เจ็บคอ, ไข้, สั่น, ไอ หรือมีอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อ
  • เจ็บหน้าอก
  • ผื่นผิวหนัง

ข. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาเนื่องจากร่างกายจะปรับตัว เข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน

  • ท้องร่วง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ท้องผูก
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะ
  • นอนไม่หลับ
  • ผิวแห้ง

ค. อาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ชื่อทางการค้า

ชื่อภาษาไทยอื่นที่อาจมีการใช้

ยาที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Capecitabine. Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: June 12, 2010.
  2. วิลาวัณย์ พิชัยรัตน์ และ สมสมัย สุธีรศานต์. การดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด [สำหรับผู้ป่วยเเละครอบครัว] พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. 2552 หน้า 5-19
  3. Dailymed current medication information . Capecitabine Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=17339#PRECAUTIONS Date: June 15, 2010.
  4. Medina PJ and Fausel C. Cancer Treatment and Chemotherapy. In : DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG and Posey LM , editors.PharmacotherapyA Pathophysiologic Approach 7th ed. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 2085-2108.
  5. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Capecitabine Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a699003.html Access Date: June 15, 2010.

เขียนโดย โพยม วงศ์ภูวรักษ์, ไตรรัตน์ แก้วเรือง

เขียนเมื่อ 15 Jun 2010 13:06 แก้ไขเมื่อ 12 Aug 2011 09:08

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย