อ่าน: 3151
Small_font Large_font

Fluorouracil (5-FU) (ฟลูออโรยูราซิล (ไฟฟ์-เอฟยู))

คำอธิบายพอสังเขป

ฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) หรือเรียกย่อว่าไฟฟ์-เอฟยู (5-FU) เป็นยาที่มีโครงสร้างคล้ายกับเบสยูราซิล (uracil) ที่มีการเติมหมู่ฟลูออรีน (fluorine) เข้าไป เมื่อยาเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสารออกฤทธิ์ที่อยู่ในรูปของนิวคลีโอไทด์ (nucleotide) ที่ชื่อว่าฟลูออโรดีออกซียูริดีนโมโนฟอสเฟต (fluorodeoxyuridine monophosphate) แล้วจับกับเอนไซม์ไทมิดิเลตซินเทส (thymidylate synthase) ทำให้เอนไซม์หมดฤทธิ์ไป จึงทำให้เซลล์มะเร็งสังเคราะห์สารไทมิดีน (thymidine) ที่จะนำมาสร้างเป็นสายดีเอ็นเอ (DNA) ไม่ได้ และยังมีนิวคลีโอไทด์ในรูปไทรฟอสเฟต (triphosphate nucleotide) ที่จะเข้าไปรวมกับอาร์เอ็นเอ (RNA) ทำให้ทำหน้าที่ผิดปกติไป

  • ฟลูออโรยูราซิลใช้รักษาโรคมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ (colon), ไส้ตรง (rectum), เต้านม (breast), กระเพาะอาหาร (stomach) และตับอ่อน (pancreas) เป็นต้น

ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆ ได้อีก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

ก่อนการใช้ยา

การแพ้ยา

โปรดแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านเคยมีอาการผิดปกติใดๆหรือมี ประวัติการแพ้ฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) หรือ ส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งการมีประวัติเคยแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร, สารกันเสีย, สี เป็นต้น

อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องระวัง

  • ยาเคมีบำบัดมีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรรับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกเเล้วใหม่ๆ ควรงดรับประทานผักสด หรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเปลือก หากต้องการรับประทานควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ระหว่างใช้ยานี้

ตั้งครรภ์

ABCDX

รายการนี้จัดอยู่ในประเภท 'X' สำหรับสตรีมีครรภ์

จากการศึกษาในสัตว์หรือมนุษย์พบว่ายาทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ หรือมีหลักฐานชัดเจนจากการใช้ในมนุษย์ว่าเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์ ดังนั้นห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์

โปรดแจ้งแพทย์หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตร เนื่องจากฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ โดยไม่เว้นว่าจะเป็นฝ่ายชายหรือหญิงที่ได้รับยานี้

มีรายงานว่าฟลูออโรยูราซิล ทำให้ตัวอ่อนของหนูทดลองเกิดความผิดปกติ เมื่อได้รับยาในขนาดสูงกว่าขนาดยาในมนุษย์เล็กน้อย และยังพบว่าเกิดทารกวิรูปในสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับยาฟลูออโรยูราซิล

ยานี้อาจใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคมะเร็งในกรณีที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีผลดีต่อมารดามากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดต่อทารกในครรภ์
นอกจากนี้ยาฟลูออโรยูราซิล อาจทำให้เป็นหมันชั่วคราวได้

กำลังให้นมบุตร

โปรดแจ้งแพทย์หากท่านกำลังให้นมบุตร หรือตั้งใจจะให้นมบุตรในระหว่างที่ได้รับยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) เนื่องจากยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง จึงไม่แนะนำให้ทารกได้รับน้ำนมมารดาระหว่างใช้ยานี้

เด็ก

ยังไม่มีการพิสูจน์ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) ในเด็ก

ผู้สูงอายุ

ยาหลายชนิดยังไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบผลของยาว่าเป็นเช่นเดียวกันกับในผู้ป่วยวัยอื่นหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ทราบว่ายานี้ทำให้เกิดอาการข้างเคียง, ปัญหาใด ๆ ที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุกับวัยอื่นหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเปรียบเทียบการใช้ยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) ในผู้สูงอายุกับวัยอื่น ๆ

ยาอื่นที่ใช้อยู่

ถึงแม้ว่ายาบางอย่างไม่ควรใช้ร่วมกัน ในบางกรณีที่จำเป็นอาจใช้ร่วมกันได้ถึงแม้ว่าอันตรกิริยาอาจเกิดขึ้นก็ตาม โดยแพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดยาหรืออาจมีข้อควรระวังอื่น ๆ ที่จำเป็น ท่านต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์หากท่านกำลังใช้ยาต่อไปนี้ร่วมอยู่ด้วย
table{border:0px}.

วัคซีนโรคหัดชนิดตัวเป็น (measles virus vaccine, live)
วัคซีนโรคคางทูมชนิดตัวเป็น (mumps virus vaccine, live)
วัคซีนโรคโปลิโอชนิดตัวเป็น (poliovirus vaccine, live)
วัคซีนโรตาไวรัสชนิดตัวเป็น (rotavirus vaccine, live)
วัคซีนโรคหัดเยอรมันชนิดตัวเป็น rubella virus vaccine, live)
วัคซีนไทฟอยด์ชนิดตัวเป็น (typhoid vaccine, live)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดตัวเป็น (influenza virus vaccine, live)
วัคซีนโรคอีสุกอีใส (varicella virus vaccine) วัคซีนโรคฝีดาษ (smallpox vaccine)
วัคซีนวัณโรค (BCG vaccine) วัคซีนไข้เหลือง (yellow fever vaccine)
แอมโฟเทอริซิน บี (amphotericin B) ยาต้านไทรอยด์ (antithyroid agents)
แอซาไทโอพรีน (azathioprine) คลอแรมเฟนิคอล (chloramphenicol)
คอลชิซีน (colchicines) ฟลูไซโทซีน (flucytosine)
เฟนิทอยน์ (phenytoin) ไซเมทิดีน (cimetidine)
เมโทรนิดาโซล (metronidazole) เจมไซทาบีน (gemcitabine)
พลิคามัยซิน (plicamycin) ไซโดวูดีน (zidovudine)
ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ (hydrochlorothiazide) เลวาไมโซล (levamisole)
ทามอกซิเฟน (tamoxifen) ทินิดาโซล (tinidazole)
วอร์ฟาริน (warfarin) อินเทอเฟียรอน (interferon)
แกนไซโคลเวียร์ (ganciclovir)

ภาวะโรคร่วม

ปัญหาความเจ็บป่วยอื่นที่ท่านเป็นอยู่อาจส่งผลต่อการใช้ยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) ท่านควรแจ้งแพทย์หากท่านมีภาวะเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น

  • โรคอีสุกอีใส ซึ่งอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
  • โรคงูสวัด ซึ่งอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
  • โรคติดเชื้อต่าง ๆ ยาฟลูออโรยูราซิลจะลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • โรคตับหรือไต อาจเพิ่มอาการพิษจากยา เนื่องจากยาถูกขับออกจากร่างกายได้ช้าลง
  • มีภาวะขาดเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจีเนส (dihydropyrimidine dehydrogenase enzyme deficiency)

การใช้ที่ถูกต้อง

ยามีจำหน่ายในรูปแบบยาฉีด

  • ยานี้ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ระหว่างได้รับยานี้ ท่านควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • สารละลายยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) เตรียมโดยเภสัชกร ใช้สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ โดยพยาบาลผู้มีความเชี่ยวชาญในการให้ยาเคมีบำบัด
  • ยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) อาจทำให้ท่านมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หากทนไม่ได้ ท่านต้องแจ้งแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล
  • ควรมาตรวจตามแพทย์นัดเพื่อติดตามผลการรักษาเป็นระยะ และให้ได้รับยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด ก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

ขนาดยา

ขนาดยาของยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น น้ำหนัก ส่วนสูงของผู้ป่วย ชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น รวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์ แนะนำ และกำหนดเวลา และมีเภสัชกรผู้เตรียมยาเคมีบำบัด ตรวจสอบขนาดยาที่ท่านได้รับ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย นอกจากนี้ความถี่ของการให้ยาฟลูออโรยูราซิล อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพัก และซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาในครั้งต่อไปได้

เมื่อลืมใช้ยา

มารับยาตามแพทย์นัด เพื่อให้ได้ยาตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบ หรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยา ควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง

การเก็บรักษา

เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง และป้องกันแสง

ข้อควรระวัง

  • ยาฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) มีผลต่อไขกระดูกทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดแดงลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรือภาวะเลือดออกง่าย
  • ควรหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่เป็นหวัด หัด สุกใส วัณโรค มีไข้ หรือติดเชื้ออื่นๆ หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะแสบขัด เจ็บคอ ท้องร่วง เหนื่อยหอบผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งว่าท่านกำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอยู่
  • ระหว่างที่ได้รับการรักษาด้วยฟลูออโรยูราซิล ท่านไม่ควรได้รับวัคซีนใด ๆ โดยไม่ได้แจ้งแพทย์ เนื่องจากยาทำให้ภูมิคุ้มกันของท่านลดลง และมีโอกาสติดเชื้อจากวัคซีนที่ท่านได้รับ นอกจากนี้บุคคลที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยก็ไม่ควรได้รับวัคซีนโปลิโอ เพราะอาจทำให้ท่านได้รับเชื้อไวรัสโปลิโอได้
  • ควรพบแพทย์ทันทีถ้าท่านมีเลือดออกผิดปกติ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ควรระมัดระวังการใช้ไหมขัดฟัน หรือไม้จิ้มฟัน และแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่าใช้ยานี้อยู่
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีที่อุ้งเชิงกราน (pelvic irradiation) หรือเคยใช้ยาในกลุ่ม alkylating agents มาก่อน ต้องใช้ยาฟลูออโรยูราซิลด้วยความระมัดระวังอย่างสูง
  • อาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง เช่น ปากอักเสบ (stomatitis), ท้องร่วง (diarrhea), ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ(neutropenia) และ พิษต่อระบบประสาท (neurotoxicity) จากยาฟลูออโรยูราซิลสัมพันธ์กับภาวะขาดเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีน ดีไฮโดรจีเนส (dihydropyrimidine dehydrogenase enzyme deficiency) เนื่องจากการขาดเอนไซม์นี้ทำให้ยาถูกกำจัดออกจากร่างกายได้ช้าลง
  • ฟลูออโรยูราซิลเป็นยาที่มีความเป็นพิษสูง อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่น พิษต่อระบบเลือด, เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัย แพทย์อาจให้ท่านหยุดยาหากมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้
    1. ปากอักเสบ หรือหลอดอาหารคอหอยอักเสบ (stomatitis or esophagopharyngitis)
    2. ภาวะเม็ดเลือดขาวน้อยเกินไป (leucopenia) (เม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 3500)
    3. อาเจียนซึ่งยากจะรักษา
    4. ท้องร่วง ถ่ายเหลวเป็นน้ำอย่างรุนแรง
    5. มีแผลหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร
    6. ภาวะเกล็ดเลือดน้อย (thrombocytopenia) (เกล็ดเลือดน้อยกว่า 100,000)
    7. มีภาวะเลือดออกจากตำแหน่งต่าง ๆ ในร่างกาย

อาการไม่พึงประสงค์

ยาอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงบางอย่างที่ไม่ต้องการ ถึงแม้ว่าอาการข้างเคียงต่อไปนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากเกิดอาการข้างเคียงขึ้นควรได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ก. พบแพทย์ทันหากมีอาการต่อไปนี้
พบบ่อย

  • ท้องร่วง, แสบร้อนยอดอก,เจ็บปาก หรือริมฝีปาก
**อาการเจ็บในปากอาจบรรเทาได้ด้วยการอมน้ำแข็ง และรักษาช่องปากให้สะอาดด้วยการแปรงฟันด้วยแปรงสีฟันที่มีขนนุ่มวันละ 2-3 ครั้ง บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ 0.9% สำหรับน้ำยาบ้วนปากที่มีตัวยาฆ่าเชื้ออาจทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุในปาก และผลการรักษาไม่ได้ดีกว่าน้ำเกลือ ในกรณีที่มีแผลในปากรุนแรง การแปรงฟันอาจทำให้เกิดแผลเพิ่มขึ้นได้ ควรใช้ฟองน้ำหรือผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือทำความสะอาดฟันแทน **
  • ฟลูออโรยูราซิล (fluorouracil) อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการพาลมาร์-แพลนเทอร์ อีริโทรดีอีสทีเซีย (palmar-planter erythrodysesthesia syndrome) หรือกลุ่มอาการ มือ-เท้า (hand-foot syndrome) ซึ่งเกิดจากยาปริมาณน้อย ๆ ค่อย ๆ รั่วออกจากหลอดเลือดขนาดเล็กที่มือและเท้า ยาที่รั่วออกมาจึงทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ หลอดเลือด โดยเริ่มแรกอาจมีความรู้สึกเหมือนมีหนามแทงปลายมือ ปลายเท้า จากนั้นอีก 2-3 วัน จะรู้สึกเจ็บ ปวด ขณะจับสิ่งของ หรือเดิน ฝ่ามือและฝ่าเท้า บวม แดง ทั้งสองข้าง อาจมีผิวหนังลอกร่วมด้วย

พบน้อย

  • อุจจาระดำ,ไอหรือเสียงแหบร่วมกับมีไข้หรือสั่น , ไข้หรือสั่น, ปวดบั้นเอวร่วมกับมีไข้, คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง, ปัสสาวะขัด, ปวดท้อง

พบน้อยมาก
  • อุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด, จุดแดงบนผิวหนัง, เลือดออกผิดปกติ หรือมีจ้ำเลือด

ข. พบแพทย์โดยด่วน หากมีอาการต่อไปนี้
พบน้อยมาก

  • เจ็บหน้าอก, ไอ, หายใจสั้น, รู้สึกเจ็บปลายมือ ปลายเท้า ตามด้วยบวม แดง

ค. อาการข้างเคียงอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไปในระหว่างการรักษาหรือหยุดยาไปแล้วเนื่อง จากร่างกายจะปรับตัวเข้ากับยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถ้าอาการข้างเคียงเหล่านี้เกิดขึ้นติดต่อกันนาน หรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของท่าน
พบบ่อย

  • เบื่ออาหาร , คลื่นไส้อาเจียน, อ่อนเพลีย, ผื่นผิวหนัง

พบน้อย
  • ผิวแห้งแตก

ง. อาการข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยบางราย หากท่านสังเกตเห็นอาการข้างเคียงอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

กลุ่มยา

ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มยาต่อไปนี้

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยานี้เกี่ยวข้องกับยาต่อไปนี้

Azacitidine, Capecitabine, Cladribine , Cytarabine (Ara-C) , Decitabine, Fludarabine , Gemcitabine, Mercaptopurine or 6-Mercaptopurine (6-MP) , Methotrexate , Pemetrexed, Tegafur and Uracil , Thioguanine or 6-Thioguanine

ชื่อทางการค้า

ยานี้มีชื่อทางการค้าต่อไปนี้

Fluracil injection (ฟลูราซิล ยาฉีด), 5-FU injection (ฟลูออโรยูราซีล ยาฉีด), Effcil injection 500 mg/10 ml. (เอฟฟ์ซิล ฉีด 500 มก.), 5 - Fluorouracil - "ebewe" 500 mg. injection (5 - ฟลูออโรยูราซิล -" อีบีเว" 500 มิลลิกรัม ยาฉีด), 5 - Fluorouracil - "ebewe" 1000 mg. injection (5 - ฟลูออโรยูราซิล - "อีบีเว" 1000 มิลลิกรัม. ยาฉีด), Fluorouracil U.S.P. Abic (50 mg/ml), 5 - Fluorouracil "ebewe" (250 mg) injection (5 - ฟลูโอโรยูราซิล "อีบีเว" (250 มิลลิกรัม) ยาฉีด), Fluracedyl, injection 50 mg/ml, DBL (R) Fluorouracil injection B.P. injection, 5 - Fluorouracil "ebewe" 5000 mg. injection (5-ฟลูโอโรยูราซิล "อีบีเว" 5000 มิลลิกรัม ยาฉีด), Fluoro - uracil, Fivoflu injection (ฟิโวฟลู ยาฉีด)

ข้อมูลนี้ไม่สมบูรณ์ ยานี้อาจจะยังมีชื่อทางการค้าอื่นที่ไม่ได้แสดงในนี้ หรือชื่อทางการค้าที่แสดงในนี้อาจจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายแล้ว

แหล่งอ้างอิง

  1. กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. สืบค้นทะเบียนยาสามัญสำหรับยาเดี่ยว. Fluorouracil . Available at: http://wwwapp1.fda.moph.go.th/ed2547/?url=14 Access Date: June 14, 2010.
  2. วิลาวัณย์ พิชัยรัตน์ และ สมสมัย สุธีรศานต์. การดูแลตนเองเมื่อได้รับยาเคมีบำบัด [สำหรับผู้ป่วยเเละครอบครัว] พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพยาบาลสงขลานครินทร์. 2552 หน้า 5-19
  3. CPM medica. MIMS Thailand Online. Available at http://www.mims.com. Access Date: June 14, 2010.
  4. Dailymed current medication information .Methotrexate Available at: http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?id=12355 Date: June 14, 2010.
  5. DRUGDEX® System:Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System (electronic version). Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado, USA. Available at: http://www.thomsonhc.com (cited: 14/6/2010).
  6. Medina PJ and Fausel C. Cancer Treatment and Chemotherapy. In : DiPiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG and Posey LM , editors.PharmacotherapyA Pathophysiologic Approach 7th ed. New York: McGraw-Hill; 2008. p. 2085-2108.
  7. MedlinePlus Trusted Health Information for You. Fluorouracil Available at http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/drug_Aa.html. Access Date: March 17, 2005.
  8. The Merck Manuals Online medical Library The Merck Manual for Healthcare Professionals: Fluorouracil Drug Information Provided by Lexi-Comp. Available at: http://www.merck.com/mmpe/lexicomp/neomycin.html Access Date: June 14, 2010.

ไตรรัตน์ แก้วเรือง
โพยม วงศ์ภูวรักษ์
14 มิถุนายน 2553 12 สิงหาคม 2554
เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย