จากที่เคยคิดกันว่า “การดื่มสุรา” เป็นเรื่องส่วนตัว ข้อมูลวิชาการที่สั่งสมมาจนถึงวันนี้ได้สั่นคลอนความคิดดังกล่าวจนไม่อาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไปในปัจจุบัน
นั่นเป็นเพราะผลกระทบจากการ “ดื่ม” ของบุคคลหนึ่งสามารถส่งแรงสะเทือนถึงสภาพความเป็นความตายของบุคคลอื่นได้ ดังเช่นกรณีของการ “เมาแล้วขับ” ที่มีหลักฐานพิสูจน์จนเกินพอว่าการดื่มนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนร่วมสังคมได้รุนแรงเพียงไร
รวมถึงเรื่องของผลกระทบจากการดื่มของผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็น “พ่อ” ที่ส่งผลกระเทือนอย่างลึกซึ้งต่อผู้เป็นลูก
จนทำให้นานาประเทศหันมาให้ความสนใจต่อการรณรงค์และสนับสนุนให้ “พ่อเลิกดื่ม” อยู่ในเวลานี้
พ่อ “ดื่ม” กระตุ้นให้ลูกดื่มตาม
มีรายงานการวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นถึงผลด้านหนึ่งจากการดื่มของพ่อต่อลูก นั่นคือ การเป็นแบบอย่างหรือตัวกระตุ้นให้ลูกหัดดื่มสุราตั้งแต่อายุน้อยๆ และไม่เกิดความยับยั้งชั่งใจในการดื่มเป็นประจำและดื่มหนักตั้งแต่อยู่ในวัยเรียน อันเป็นบันไดนำไปสู่ความเสี่ยงต่อชีวิต และความสำเร็จในชีวิตอนาคตอีกนานัปการ
เคทลิน อาบาร์ สมาชิกของศูนย์วิธีวิทยาและการวิจัยเชิงป้องกันแห่งมหาวิทยาลัยเพนน์สเตท นำเสนอผลวิจัยเมื่อปี 2552 ที่สำรวจนักศึกษาใหม่เกือบ 300 คน ของสถาบันแห่งนี้ที่มีพฤติกรรมการดื่มสุรา มีความเชื่อมโยงกับตัวอย่างที่ได้รับจากพ่อและแม่ และไม่ห้ามที่ลูกจะ “ดื่ม” เลียนแบบตนเอง
ข้อมูลดังกล่าวยืนยันด้วยสถิติที่รวบรวมโดย องค์กร Alcoholfreechildren.org ที่ระบุชัดเจนว่า พ่อแม่ที่มีพฤติกรรมการดื่ม และมีทัศนคติชื่นชอบการดื่มมีโอกาสทำให้ลูกๆ เกิดพัฒนาการในการดื่มแอลกอฮอล์ และลูกของผู้ที่ดื่มจนติดจะมีโอกาสดื่มตั้งแต่เป็นวัยรุ่นและพัฒนาเป็นการดื่มเกินปกติต่อไปในอนาคต แม้แต่การดื่มเพื่อ “เข้าสังคม” ก็ยังเสี่ยงต่อการเรียนรู้และเลียนแบบจากลูกๆ โดยเฉพาะลูกที่เป็นวัยรุ่น เพราะการได้เห็นพ่อแม่ดื่มสุรา ทำให้เด็กคิดว่าการดื่มไม่มีอันตราย
Alcoholfreechildren.org ระบุด้วยว่า เยาวชนที่เริ่มดื่มก่อนอายุ 13 ปี ถึง ร้อยละ 40 จะพัฒนาสู่การดื่มที่มากเกินปกติหรือการติดเหล้าต่อไป และในกลุ่มเยาวชนที่เริ่มดื่มแต่เด็กและยังดื่มต่อเนื่องไปจนอายุ 21 ปี มีถึง ร้อยละ 70 ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคแอลกอฮอล์เรื้อรัง
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่แคว้นเวลส์ ในสหราชอาณาจักร พบว่า ลูกของผู้ที่ดื่มเหล้าหนักถูกพบว่า ดื่มเป็นประจำ และดื่มหนักมากกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่มีปัญหาด้านการดื่ม
ประเด็นที่น่าสนใจคือข้อค้นพบที่ว่า การที่พ่อแม่ติดเหล้าบุหรี่นั้นส่งผลครอบงำให้ลูกติดตามมากกว่าการเสพยาเสพติดชนิดอื่นๆ เพราะการเสพยาเสพติดนั้นสามารถปกปิดได้แต่พ่อแม่ที่ติดเหล้าบุหรี่จะเสพให้ลูกเห็นในบ้านและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และช่วงวัยที่รับรู้และซัมซับพฤติกรรมของพ่อแม่มากที่สุดก็คือ ช่วงวัยรุ่น
ทั้งนี้ การที่พ่อดื่มและพบว่าลูกก็มีแนวโน้มจะเป็นนักดื่มตามพ่อนั้นหาใช่อิทธิพลจากพันธุกรรมอย่างที่เคยเชื่อกัน เพราะมีผลศึกษาจากฝาแฝดที่หน้าตาเหมือนกัน พบว่า พันธุกรรมไม่อาจเอาชนะสภาพแวดล้อมได้
ดังนั้น การดื่มที่เป็นเหมือนโรคระบาดในครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยสภาพแวดล้อม อันเกิดจากการกำหนดจากผู้เป็นพ่อแม่ ไม่ใช่สิ่งที่ “ต้องเป็นไปตามยถากรรม”
ชีวิตหม่นเศร้าตั้งแต่ย่างเข้า “วัยใส”
ข้อมูลจากทั่วโลกยืนยันให้เห็นประจักษ์ว่า การที่พ่อเปิดรับสิ่งเสพติดที่มีฤทธิ์ “เปลี่ยนนิสัย” อย่างเช่นสุราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ส่งผลต่อสุขภาพและจิตใจของลูกทั้งในวันนี้และวันหน้าอย่างมหาศาล เพราะ...
- การดื่มสุราเป็นประจำส่งผลต่อการเงินของครอบครัว อาจนำไปสู่การเป็นหนี้ ต้องสูญเสียเงินออม บ้าน และหลักทรัพย์เพื่อความมั่นคงของสมาชิก ทำให้ทุกคนในครอบครัวเกิดความเครียด
- พ่อหรือแม่ที่ดื่มสุราเป็นประจำมักทำหน้าที่ดูแลครอบครัวและลูกๆ ไม่ได้เต็มที่ ไม่มีเวลาให้ลูกอย่างเพียงพอ เพราะเอาเวลาไปใช้ในการดื่มและช่วงทำให้สร่างเมา ส่งผลให้ลูกได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองน้อยกว่าเด็กทั่วไปที่เติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ดื่ม
- พ่อหรือแม่ที่ดื่มจนสุขภาพเสื่อมโทรม ก่อภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว หรือสภาพจิตใจแปรปรวน จะนำไปสู่สภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ทำให้เด็กจำนวนมากไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก ไปจนถึงการต้องไปอาศัยอยู่กับญาติ และอาจมีภาระดูแลพี่น้อง และต้องแบกรับความรับผิดชอบที่เกินตัวแต่เด็ก
- พ่อแม่ที่ดื่มจนขาดสติมักแสดงถ้อยคำหรือกิริยาที่ทำร้ายจิตใจและฝากรอยแผลฝังลึกแก่ลูก ทั้งการด่าว่า ดูถูก ไม่รับฟังเหตุผล ฯลฯ
- ผลที่เกิดอย่างลึกซึ้งในระยะยาวคือ บาดแผลในใจของเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ก่อเหตุรุนแรง เป็นหนี้ หรือบ้านแตกสาแหรกขาดเพราะฤทธิ์เสพติดน้ำเมา ที่มักโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พ่อหรือแม่ต้องดื่ม เนื่องจากพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่ยอมเลิกดื่ม เบี่ยงเบนประเด็นไปอ้างว่า ดื่มเพราะความเครียดกังวลจากการหารายได้และภาระการเลี้ยงดูลูก
มีผลวิจัยชี้ชัดว่า พ่อแม่ที่เลิกดื่มเหล้าก่อนที่ลูกๆ จะก้าวสู่วัยรุ่นจะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะก้าวสู่ “นักดื่ม” ได้อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยลดภัยเสี่ยงสุขภาพตัวฉกาจให้แก่เสาหลักสำคัญของครอบครัว
ข้อมูลทั้งด้านผลกระทบและโอกาสที่ประมวลจากข้อเท็จจริงจากนานาประเทศดังกล่าวทำให้ได้เห็นชัดเจนว่า เหตุใดการรณรงค์และสนับสนุนให้ “พ่อเลิกดื่ม” จึงขยายตัวไปทั่วโลกในเวลานี้
ข้อมูลจาก เครือข่ายองค์กรงดเหล้า