อ่าน: 289

พิษสุรากลืนกินสมอง มหันตภัยที่พิสูจน์แล้ว

พิษภัยสุราต่อระบบร่างกายของมนุษย์นั้นเป็นที่ยอมรับมาช้านาน รวมถึงผลต่อการทำงานของสมอง ดังชื่อเรียกขานสุราว่า “น้ำเปลี่ยนนิสัย” ที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมตลอดจนการรับรู้ของผู้ดื่ม

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงผลที่เกิดในช่วงเวลาที่ฤทธิ์แอลกอฮอล์ยังไหลเวียนอยู่ในร่างกายจากการดื่มครั้งนั้นๆ แต่มีคนไม่มากนักที่ทราบถึงผลระยะยาวที่แอลกอฮอล์ฝากทิ้งไว้กับสมองและระบบประสาท ที่รุนแรงถึงขั้นทำลายจน “ฝ่อ”

สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ทำให้สมองสูญเสียสมรรถนะในการทำงานอย่างไม่อาจเรียกคืน

ฉุดสมรรถภาพสมองเสื่อมทรุด
สมองมนุษย์นั้นเป็นผลรวมจากนิวตรอนหรือเซลล์ประสาทมากกว่าหนึ่งร้อยล้านเซลล์ แต่ละเซลล์ประสาทจะสร้างการเชื่อมโยงต่อเซลล์ประสาทอื่นๆ นับหมื่นเซลล์

ข้อมูลจาก อเมริกัน แอสโซซิเอชั่น ฟอร์ เดอะ แอดวานซ์เมนท์ ออฟ ไซแอนซ์ (American Association for the Advancement of Science) ระบุว่า ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองจนทำให้สมรรถนะถดถอยในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวัยรุ่นที่ “ดื่ม” อย่างต่อเนื่อง เช่น

  • การตัดสินใจบกพร่อง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์รบกวนพัฒนาการของ สมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถด้านการวางแผนและการตัดสินใจ ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจด้วยเหตุผลลดลง การทำสิ่งต่างๆ เพียงเพราะความสนุก หรือแค่ทำแล้ว “รู้สึกดี”
  • ดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ การดื่มอย่างต่อเนื่องจะกระตุ้นให้สมองอดทนต่อการดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งขึ้น ทำให้ปริมาณการดื่มที่ส่งผลให้ “เมา” เพิ่มระดับขึ้นเรื่อยๆ สภาพเช่นนี้ส่งผลให้นำไปสู่การติดสุราได้ในที่สุด
  • ขาดความยับยั้งชั่งใจ ฤทธิ์แอลกอฮอล์ขัดขวางการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนของสมอง ได้แก่ สมองส่วนหน้า และ ventral striatum ซึ่งทำงานร่วมกันในการส่วนข้อมูลความพึงพอใจต่อแรงจูงใจด้านบวก อันเป็นกระบวนการที่ทำให้การควบคุมพฤติกรรมเป็นไปอย่างเหมาะสม เมื่อกระบวนการนี้ถูกขัดขวาง ทำให้เกิดความเสี่ยงจากการกระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ อันจะทำให้ต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบาก และไม่อาจแก้ไขได้
  • บ่อนทำลายระบบความจำ การดื่มแม้เพียงน้อยนิดสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองที่รวบรวมความทรงจำ ที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่ยังคงเจริญเติบโตในช่วงที่เป็นวัยรุ่น การดื่มอย่างต่อเนื่องในช่วงวัยนี้ส่งผลต่อเรื่องของความจำซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน
  • หัวช้า นอกจากผลทั้ง 4 ด้านดังกล่าว ยังมีผลวิจัยเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นที่ชี้ว่า ผู้ที่ต้องพึ่งพาการดื่มมีการตอบสนองต่อกิจกรรมที่ต้องอาศัยความสามารถด้านการจดจำช้ากว่าคนทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด
  • การกะระยะบกพร่อง การศึกษาวัยรุ่นวัย 15-16 ปี ที่มีประวัติการดื่มโดยเฉลี่ย 753 ครั้งในชีวิต พบว่า การดื่มเหล้าหนักในช่วงวัยรุ่นส่งผลให้ระบบการมองเห็นและการกะระยะวัตถุบกพร่อง

ไขกลไกบ่อนทำลายสมองของแอลกอฮอล์
นักวิทยาศาสตร์อธิบายถึงกลไกในการบ่อนทำลายสมองของแอลกอฮอล์ไว้ดังนี้

  • สมองเร่งสร้างเซลล์ทดแทนจนย้อนทำลายตัวเอง – เมื่อผ่านสู่ร่างกาย ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่เข้าสู่สมองและระบบประสาทจะทำให้การตีความในการส่งสัญญาณต่างๆ ลดลง ระหว่างที่อยู่ในอาการมึนเมาสุราจากสารที่ก่อพิษ สมองจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวและเพิ่มการส่งข้อความหรือสัญญาณ นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า การกระตุ้นที่มากเกินกว่าปกติของสมองเช่นนี้ทำให้เซลล์ประสาทแตกตัวในเซลล์ของมันเองและตายลงในที่สุด สภาพดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แม้แอลกอฮอล์ไม่ได้มีฤทธิ์ทำลายเซลล์สมองโดยตรง แต่ส่งผลเกี่ยวเนื่องในการทำลายสมองอย่างแน่นอน
  • สมองส่วนหน้าถูกทำลาย- จนถึงทุกวันนี้มีผลพิสูจน์ชัดเจนว่าขนาดสมองของผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำกับคนทั่วไปนั้นแตกต่างกัน ล่าสุดงานวิจัยแบบ Cross-sectional study ในวัยรุ่น 18 คน อายุระหว่าง 16-19 ปี โดยดร.ทาเพิร์ทชี้แจงว่า ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำโดยเฉพาะวัยรุ่นที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่จะทำให้ “สมองส่วนหน้า” (prefrontal cortex) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบการควบคุมด้านการคิดที่ซับซ้อน การวางแผน การยับยั้งชั่งใจ และการจัดระเบียบทางอารมณ์หดเล็กลง นอกจากนี้ ยังทำลายเนื้อเยื่อสมองส่วนที่เรียกว่า “white matter” ซึ่งสำคัญต่อการสื่อสารในสมองให้เหลือจำนวนน้อยลง ส่งผลต่อการตัดสินใจที่ซับซ้อนเกี่ยวกับข้อมูล และการควบคุมอารมณ์เสียไป

สุรากลืนสมอง ร้อยละ 10…ผลกระทบมากกว่าที่คิด

รายงานการศึกษาถึงผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสมองยืนยันว่า การดื่มอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มดื่มตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น ส่งผลต่อขนาดของสมอง โดยทำให้สมองมีขนาดเล็กกว่าคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั่วไปประมาณ ร้อยละ 10 หรือเหลือสมองเพียง 9 ใน 10 จากขนาดปกติ

สมองส่วนที่หายไปนี้หมายถึงเซลล์ประสาทจำนวนมหาศาลที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นไปอย่างเหมาะสม สามารถกำกับดูแลชีวิตให้ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ

พิษสุราที่ทำลายสมองจนฝ่อไปถึง “หนึ่งในสิบ” จึงบ่อนทำลายสมองที่เราแต่ละคนได้รับมาเพียงคนละหนึ่งก้อนสำหรับหนึ่งชีวิตให้กลายเป็นสมองที่บกพร่อง

น้ำเปลี่ยนนิสัยจึงไม่เป็นเพียงมหันทภัยสำหรับนักดื่มหน้าเก่าใหม่เพียงชั่วข้ามคืนอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการกัดกร่อนทรัพยากรอันมีค่าของสังคมไปอย่างยากจะฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ชั่วชีวิต

ที่มา: เครือข่ายองค์กรงดเหล้า

: กาย
:
: สุขภาพดี
: สมอง สุรา เหล้า

Share |
พรรณภัทร 03 มี.ค. 2553 03 มี.ค. 2553
ความคิดเห็น (0)
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น
captcha
 
ยกเลิก หรือ

หมายเหตุ เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาวะ ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ หรือ ถาม-ตอบปัญหาสุขภาพ หากมีปัญหาสุขภาพโปรดปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อนแนะนำ : เงินด่วน 30 นาทีถูกกฎหมาย, เราชนะรอบ 4, ยืมเงิน 3000 ด่วน, แอพผ่อนของ, กู้เงิน, สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อไม่เช็ค บูโรถูกกฎหมาย