ประเทศไทยและนานาประเทศในโลกกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์เดียวกัน นั่นคือ มันสมองของชาติในอนาคตกำลังถูกทำลายเพราะพิษสุรา
นี่คือผลกระทบโดยตรงจากแนวโน้ม “นักดื่มหน้าใหม่” ของไทยและของโลกที่มีช่วงอายุที่ลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่วงการวิทยาศาสตร์ค้นพบข้อเท็จจริงที่ว่า...
ผลกระทบจากพิษสุราเกิดขึ้นแก่สมองมนุษย์ช่วงวัยรุ่นมากยิ่งกว่าช่วงวัยใดๆ
“น้ำเมา” ตัดตอนพัฒนาการจังหวะทองของสมอง
เชื่อหรือไม่ว่า สมองของคนเรานั้นมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องนับสิบปี ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาตราบกระทั่งเข้าสู่ช่วงวัยบรรลุนิติภาวะ ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงนับเป็นช่วงอ่อนไหวต่อการถูกขัดขวางให้สมองเจริญเติบโตได้เต็มที่
ดร.เจย์ เกียดด์ จาก สถาบันแห่งชาติด้านสุขภาพจิต ใน สหรัฐอเมริกา (National Institute of Mental Health – NIMH) ระบุว่า สมองของมนุษย์จะเจริญเติบโตเรื่อยไปจนถึงช่วงอายุ 20 ปี โครงสร้างสมองทุกส่วนจึงสมบูรณ์เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อเยื่อประสาท และสมองที่มีบทบาทต่อการวางแผนที่ซับซ้อน รวมถึงการเคลื่อนไหวได้อย่างสมดุล
ในช่วงวัยรุ่นกระบวนการเติบโตของระบบสมองเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหว เพราะเป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงจากภาวะความเป็นเด็กสู่ผู้ใหญ่ จากที่เคยพึ่งพาคนอื่นสู่การเป็นอิสระในการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย หากพัฒนาการของสมองในช่วงวัยรุ่นเป็นไปอย่างเหมาะสม จะทำให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลและเหตุผลได้ดี สามารถควบคุมแรงกระตุ้นต่างๆ ได้ และใช้ชีวิตการกินอยู่หลับนอนได้อย่างเป็นปกติสุข ไม่เบียดเบียนสุขภาวะของตนเอง และบุคคลรอบข้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยเกื้อหนุนให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพ
กระบวนการพัฒนาของสมองในช่วงวัยรุ่นจึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ และเปราะบางอย่างยิ่งต่อการถูกแทรกแซง และหนึ่งในปัจจัยแทรกแซงที่ส่งผลสะเทือนอย่างลึกล้ำ ก็คือฤทธิ์จากแอลกอฮอล์ในสุรา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองวัยรุ่นมากกว่าวัยผู้ใหญ่ซึ่งมีพัฒนาการทางสมองเต็มที่แล้ว
เจาะลึกผลกระทบสุราต่อสมองวัยรุ่น
ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการดื่มสุราต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองในยุคปัจจุบันต่างเน้นย้ำในประเด็นหลักเดียวกันว่า แอลกอฮอล์ก่อผลกระทบต่อสมองของ “นักดื่มวัยกระเตาะ” มากยิ่งกว่าช่วงวัยใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อระบบการเรียนรู้และความทรงจำ
สมองส่วนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ ส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งเป็นตัวควบคุมและรับผิดชอบระบบการเรียนรู้ และระบบความทรงจำ นอกจากนี้ยังเกิดความเสี่ยงขึ้นกับ สมองส่วนหน้าสุด (prefrontal cortex) ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของการตัดสินใจ
อันตรายจากแอลกอฮอล์ต่อสมองวัยรุ่นที่ดื่มหนัก และดื่มบ่อย ประมวลได้ดังนี้
- ขัดขวางการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ในสมองของวัยรุ่นมากกว่าผู้ใหญ่
- สมองส่วนที่เก็บความทรงจำของวัยรุ่นถูกทำลายด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
- วัยรุ่นที่ดื่มสุราอย่างหนักเพียง 2-3 ปี ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้และความทรงจำ
- ขนาดเฉลี่ยของสมองวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรงและวัยรุ่นที่ดื่มแอลกอฮอล์หนักมีขนาดต่างกันถึง ร้อยละ 10
- ธรรมชาติการทำงานของสมองวัยรุ่นนั้น สมองส่วนหน้ามีสภาพไม่ตื่นตัวเท่าผู้ใหญ่แต่ถูกควบคุมด้วยส่วนอื่นๆ มากกว่า นั่นเป็นคำอธิบายว่า ทำไมวัยรุ่นจึงเต็มไปด้วยอารมณ์เศร้า โกรธ สับสน มักขาดความยับยั้งชั่งใจ การใช้เหตุผล ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และไม่สามารถแบกรับความรับผิดชอบงานต่างๆ ได้เท่ากับผู้ใหญ่ เมื่อฤทธิ์แอลกอฮอล์เข้าไปทำลายสมองส่วนหน้าของวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในระยะพัฒนาการให้เติบโตเต็มที่จนฝ่อ เท่ากับเป็นการขัดขวางความก้าวหน้าในการสร้างวุฒิภาวะ
- วัยรุ่นระดับมัธยมปลาย และคนวัยเริ่มต้นทำงาน ที่ดื่มสุราอย่างหนักและต่อเนื่อง พบว่า ส่งผลทำให้ขนาดสมองเล็กกว่าปกติชัดเจนยิ่งกว่าผู้ใหญ่ที่ติดสุราเรื้อรัง และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
ข้อค้นพบดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงพิษสุราที่ทำลายสมองวัยรุ่นและวัยแรกทำงานมากที่สุด และส่งผลกระทบหรือผลร้ายในระยะยาวชั่วชีวิต ประชากรกลุ่มเดียวกันนี้กลับถูกกระตุ้นจากสื่อโฆษณา ส่งเสริมการขาย และสภาพแวดล้อมทางสังคมทั้งจากเพื่อนฝูงและหน้าที่การงานให้เริ่มดื่ม และดื่มจนเป็นนิสัย
นี่จึงเป็นองค์ความรู้ที่ท้าทายสังคมทั่วโลก รวมทั้งคนไทยว่าจะปกป้อง “สมอง” ของคนในชาติให้มีพัฒนาการจนเกิดคุณภาพได้เพียงไร...ทั้งที่มองเห็นความเสี่ยงชัดเจนอยู่ตรงหน้า...
ที่มา: เครือข่ายองค์กรงดเหล้า